โรคอ้วน

Tags:
โรคอ้วน

โรคอ้วน ถือเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยคนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้อ่านบทความจาก Obesity Update ซึ่งตีพิมพ์โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พูดถึงเรื่องความอ้วนแล้ว ก็รู้สึกตกใจเนื่องจากบทความดังกล่าวรายงานว่า คนอ้วนตายเร็วกว่าคนน้ำหนักปรกติประมาณ 8-10 ปี และ ความเสี่ยงของการตายจะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซนต์ทุก 15 กิโลกรัมของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น บทความดังกล่าวรายงานผลสำรวจทั้งในผู้ใหญ่และเด็กพบว่าทั่วโลกมีคนอ้วนทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Body Mass Index (BMI) จะเป็นตัวชี้ตัวหนึ่งในการดูว่าเราอ้วนหรือไม่ คำนวณง่ายๆ โดยนำเอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเป็นตัวตั้งและส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสองเป็นตัวหาร (Bodyweight)/(Height)2 ถ้าได้ค่าอยู่ระหว่าง 18.5-23.4 แสดงว่าเรามีน้ำหนักปรกติถ้ามากกว่านี้ก็ถือว่าน้ำหนักเกินแต่ถ้าได้ค่ามากกว่า 28.5 แสดงว่าเราเป็นโรคอ้วนแล้วครับ นอกจากการใช้ BMI แล้วการวัดเส้นรอบเอว (Waist circumference) ก็ถูกนำมาใช้เป็นเป็นตัวชี้ว่าเราอ้วนหรือไม่ โดยทั่วไปถือว่าผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรและผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร เป็นคนอ้วนครับ

สรุปสาเหตุของโรคอ้วนมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

  • ปัจจัยภายใน ได้แก่ พันธุกรรมหรือความผิดปรกติของระบบต่อมไร้ท่อ
  • ปัจจัยภายนอก มาจากพฤติกรรมของเราในเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

วันนี้หมออยากคุยกับท่านผู้อ่านในเรื่องปัจจัยภายนอกเหล่านี้ครับ

ชมรมอยู่ดีมีสุข คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปหลักเกณฑ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่ดีและไม่อ้วนไว้ดังนี้ คือ ควรรับประทานอาหารมื้อเช้า รับประทานโปรตีนร่วมกับคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่น ข้าวกล้อง เป็นต้น รับประทานให้มีความหลากหลาย หลีกเลี่ยงน้ำตาล รับประทานทานอาหารจำนวนพอสมควรในแต่ละมื้อและจัดสัดส่วนอาหารประเภทต่างๆให้เหมาะสม

เรื่องการออกกำลังกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) แนะนำว่ากิจกรรมการออกกำลังกายควรมีรูปแบบที่ง่ายๆ สนุกสนาน คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่หนักเกินไป ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย เพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังกายจนถึงระดับหนักปานกลางและผ่อนร่างกายหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง

ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อรู้สึกเวียนศีรษะ ตามัว หูอื้อ ใจสั่น หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก ต้องหยุดการออกกำลังกายทันที

ก่อนจากขอฝากว่า พวกเรากินอาหารแต่ละมื้อน้อยลง ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายส่ม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง มีเพื่อนที่ดีและหาเวลาสงบใจบ้างน่าจะเป็นข้อสรุปของการมีสุขภาพดีและไม่อ้วนอย่างมีความสุขนะครับ

เอกสารอ้างอิง
1. http://www.thaihealth.or.th
2. www.oecd.org/health/obesity-update
3. http://www.sc.mahidol.ac.th/scpn/QL_SCKM/home.html

เรียบเรียงโดย
รองศาสตราจารย์ ดร. นพ. ถาวรชัย ลิ้มจินดาพร
แพทยศาสตร์บัณฑิต ปริญญาดุษฎีบัณฑิต
อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว

คลิปอธิบายเรื่องโรคอ้วนลงพุง โดย สสส.

 

บทความสุขภาพ

ขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกร หรือหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ร้านสาขาที่ ฟาสซิโนใกล้บ้าน (คลิ๊ก)

สอบถามทีมงานผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่ Facebook / Line

บทความการดูแลสุขภาพ