5 โรคระบาดในเด็ก อันตรายที่พ่อแม่ควรใส่ใจ

5 โรคระบาดในเด็ก อันตรายที่พ่อแม่ควรใส่ใจ

วัยเด็กเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต ทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายรวมถึงภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง เด็กจึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยในปัจจุบันมีโรคภัยไข้เจ็บมากมายอยู่รอบตัว ซึ่งบางโรคอาจรุนแรงถึงชีวิตได้เลยทีเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพลูกน้อยอย่างเต็มที่ วันนี้เรามี 5 โรคระบาดยอดฮิตในเด็กที่มักเป็นกันบ่อยมาเล่าสู่กันฟัง จะได้เตรียมป้องกันได้ทันท่วงที

 

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่คนไทยรู้จักกันดี โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) มักแพร่ระบาดในช่วงหน้าฝนโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการที่สังเกตได้หลายรูปแบบ เช่น

- ปวดหัว

- ปวดเนื้อปวดตัว

- มีไข้สูง 39-41 องศาเซลเซียสนานกว่า 2-7 วัน

- ปวดกระบอกตา

- คลื่นไส้ อาเจียน

- มีจุดเลือดออกตามร่างกาย

- เลือดกำดาวไหล

- เลือดออกตามไรฟัน

- อาเจียนเป็นเลือด

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการดังกล่าวและสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที

สำหรับการดูแลลูกน้อยที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ให้ยาลดไข้, เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น, ดื่มเกลือแร่หรือน้ำผลไม้, หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด แต่ที่ไม่ควรทำก็คือ ห้ามให้ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้อาการเลือดออกแย่ลง ส่วนการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้นทำได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้าน เช่น คว่ำพาชนะที่เป็นแหล่งน้ำขัง ปิดฝาถังน้ำให้เรียบร้อย เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้เป็นประจำ เป็นต้น

ไข้เลือดออก

 

โรคท้องร่วง ท้องเสีย

ท้องร่วงและท้องเสียเป็นอาการที่พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการท้องร่วงเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย สังเกตอาการได้โดยเด็กอาจมีอาการ

- ท้องเสียมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน

- ถ่ายมีมูกเลือดปน

- อ่อนเพลีย

- อาเจียน

หากมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนมากๆ อาจเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ในกรณีที่ท้องเสียไม่รุนแรงมากก็สามารถให้เกลือแร่เพื่อรักษาอาการเบื้องต้นเองได้ที่บ้าน แต่หากเด็กมีอาการรุนแรงก็ควรพาไปพบแพทย์

การป้องกันอาการท้องร่วง สามารถทำได้โดยคอยดูลูกหลานให้ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำตลอดทั้งวันและก่อนรับประทานอาหาร, ปฏิบัติตัวตามมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากเป็นเด็กเล็กก็ควรให้กินนมแม่เพื่อสร้างภูมิต้านทาน หรือพาไปหยอดวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัสที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการท้องร่วง

ท้องร่วง ท้องเสีย

 

ไวรัส RSV

ไวรัส Respiratory Syncytial Virus หรือ RSV เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แพร่กระจายผ่านเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย พบบ่อยในช่วงหน้าฝน เชื้อไวรัสชนิดนี้ติดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3 - 5 วัน

ในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป หลังจากนั้นเชื้อไวรัสอาจทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือปอดอักเสบตามมาได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยหากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะเด็กมีโอกาสเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้

- มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส

- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด

- หายใจเร็ว

- ไอหนัก อาเจียน

- รับประทานได้น้อย

- ปากซีด

- มีอาการซึม

การป้องกันเชื้อไวรัส RSV นั้นคล้ายกับการป้องกันโรคที่ติดเชื้อผ่านการสัมผัสอื่นๆ นั่นก็คือล้างมืออย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวันและก่อนรับประทานอาหาร โดยควรล้างมือให้สะอาดทั้งตัวผู้ปกครองและลูกน้อย นอกจากนี้ การใส่หน้ากากอนามัยก็ถือเป็นการช่วยป้องกันการได้รับเชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ไวรัส RSV

 

 

โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus (EV) หรือ Coxackie พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะปนอยู่ในน้ำลาย, น้ำมูก หรือน้ำตุ่มพองจากแผลของผู้ป่วย การใช้มือที่เคยสัมผัสเชื้อมาสัมผัสใบหน้าจึงถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางปากได้ โดยผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 3 - 6 วัน ซึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้นของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เช่น

- มีไข้

- อ่อนเพลีย

- ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก

- เบื่ออาหาร

โดยอาการต่าง ๆ สามารถหายไปเองได้ภายใน 3 - 7 วัน แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาเพื่อความปลอดภัย

ส่วนวิธีป้องกันโรคมือเท้าปากนั้นทำได้หลายวิธี เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ลดการสัมผัสใบหน้า ไม่ใช้แก้วน้ำและอุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลาง เป็นต้น

โรค มือ เท้า ปาก

 

 

โรคเฮอร์แปงไจน่า

เฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) เป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเราเท่าใดนัก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มคอกซากีไวรัสกรุ๊ปเอ และกลุ่มเอ็นเทอร์โรไวรัส โรคนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง และอุจจาระของผู้ที่มีเชื้อ โดยเด็กที่ป่วยจะมีอาการที่สังเกตได้ เช่น

- เป็นไข้เฉียบพลัน หรือมีไข้สูง 40 องศาเซลเซียส

- เจ็บเพดานปากและคอ

- มีแผลหรือจุดแดงภายในช่องปาก เช่น เพดานปาก ลิ้นไก่ หรือทอนซิล

- ปวดหัว

- ปวดเมื่อยตามร่างกาย

ผู้ที่เป็นโรคเฮอร์แปงไจน่าจะสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

เฮอร์แปงไจน่า

 

จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่า อาการโดยทั่วไปของโรคเฮอร์แปงไจน่านั้นไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรวางใจ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ จึงควรป้องกันการติดเชื้อด้วยการให้ลูกล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและของใช้ร่วมกับผู้อื่น ลดการสัมผัสใบหน้า และสวมหน้ากากอนามัย

ข่าวสารและกิจกรรม