7 ข้อมูลบนฉลากยา ที่ทุกคนต้องรู้

7 ข้อมูลบนฉลากยา ที่ทุกคนต้องรู้

การอ่านฉลากยา มีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลบนฉลากยานั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยทราบถึงรายละเอียดส่วนประกอบต่าง ๆ ของยา ไม่ว่าจะเป็นตัวยาที่ใช้ วิธีการใช้ และข้อมูลสำคัญอื่นอีกมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย อีกทั้งฉลากยายังเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านยาด้วย

โดยฉลากยาที่พบได้บ่อย คือ ฉลากยาจากบริษัทผู้ผลิตและฉลากยาจากสถานพยาบาล/คลินิก/ร้านขายยา ไปดูกันว่า ข้อมูลบนฉลากยานั้นมีอะไรบ้าง ตรงไหนที่เราควรใส่ใจและดูการอ่านฉลากยาให้เป็น

 

ข้อมูลที่ปรากฏบนฉลากยา

ข้อมูลสำคัญบนฉลากยาที่ทุกคนควรรู้และใส่ใจ เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 

  1. ชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย ฉลากยาจากสถานพยาบาลควรแสดงชื่อและนามสกุลของผู้ป่วยกำกับทุกครั้ง เพื่อให้ส่งมอบยาให้ผู้ป่วยถูกคน และมีคำเตือนในการใช้ยากำกับไว้ เช่น ไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นหรือรับประทานยาของผู้อื่น เนื่องจากโรคประจำตัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือผู้ป่วยบางรายมีข้อห้ามใช้ยาไม่เหมือนกัน เป็นต้น
  2. ชื่อยา มีทั้งชื่อสามัญทางยาและชื่อทางการค้า ดังนั้น ผู้ใช้ยาจึงควรทราบชื่อสามัญทางยาของยาที่ใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน, ตัวยาที่แพ้ เพราะยาชนิดเดียวกันอาจมีชื่อการค้าหลายชื่อ หรือมีหลายยี่ห้อ
  3. วันผลิตและวันหมดอายุ ช่วยเตือนสติจากการใช้ยาที่หมดอายุ หรือยาที่เสื่อมสภาพแล้ว ผู้ผลิตอาจจะใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแทนข้อความภาษาไทย เช่น MFG. date หรือ MFd ย่อมาจากคำว่า Manufacturing Date แปลว่าวันที่ผลิต เช่น
  • MFd 01/01/21 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อวันที่ 01 เดือนมกราคม ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564
  • EXP หรือ Exp. Date ย่อมาจากคำว่า Expiration Date แปลว่า วันที่หมดอายุ เช่น EXP JUL 20 หมายถึง ยานี้หมดอายุเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563
  1. ผลข้างเคียงของยา ข้อห้ามใช้และคำเตือน เป็นข้อความที่ควรให้ความให้ความสำคัญ เนื่องจากยานั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาและปฎิบัติตัวอย่างเหมาะสม เช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอน ไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ เป็นต้น
  2. เลขทะเบียนตำรับยา บนบรรจุภัณฑ์มักจะมีคำว่า Reg. No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา หมายถึง ยานั้นได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่ามีผลในการรักษาจริง
  3. ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้ทราบว่ายาดังกล่าวมีข้อควรระวังในการใช้ยามากน้อยแค่ไหน หรือควรใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร โดยมากจะแสดงข้อความด้วยอักษรสีแดงบนบรรจุภัณฑ์
  4. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต จะใช้ในกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาของบริษัทนั้น ๆ ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อให้ร้องเรียนได้อย่างถูกต้อง โดยระบุเลขที่หรือครั้งที่ผลิตของยาชนิดนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการตรวจสอบข้อมูลต่อไป

 

ฉลากยา บอกอะไรเราบ้าง จำเป็นต้องรู้ไหม (ตอนที่ 1)

 

ฉลากยา บอกอะไรเราบ้าง จำเป็นต้องรู้ไหม (ตอนที่ 2)

 

ภก.ธนธรณ์ กุลเกียรติประเสริฐ 
เลขที่ใบอนุญาต ภ.43236
ผู้เขียน


 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง

ข่าวสารและกิจกรรม