
อากาศของประเทศไทยส่วนใหญ่จะร้อน ทำให้หลายคนอาจมีอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งนอกจากทำให้ปวดท้องแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่สบายตัว คลื่นไส้ ปวดหัว แล้วอาการแบบใดสามารถหายเองได้ อาการแบบไหนควรรีบไปโรงพยาบาล มาลองเช็คดูกัน
ภาวะอาหารเป็นพิษ คืออะไร
ภาวะอาหารเป็นพิษ คือ ภาวะที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อปรสิต รวมถึงพิษจากโลหะหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายใน 24 - 48 ชั่วโมง
สาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ
เนื่องจากมีเชื้อโรคหลายชนิดที่สามารถปล่อยสารพิษปนเปื้อนอาหารต่าง ๆ ได้ เมื่อเรารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้ จะทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ โดยระยะการเกิดอาการขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อก่อโรค และที่สำคัญ สารพิษหลายชนิดทนต่อความร้อน แม้จะปรุงอาหารจนสุกแล้ว สารพิษก็ยังคงมีอยู่และก่อให้เกิดโรคได้
อาหารเป็นพิษ มีอาการอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่จะมีอาการ ปวดท้องแบบปวดบิดเป็นพัก ๆ อาเจียนและถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง บางรายอาจมีอาการไข้ หรืออ่อนเพลียร่วมด้วย โดยอาการแบ่งตามความรุนแรงได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่
- อาการไม่รุนแรง อาการสามารถหายได้เองภายใน 24 - 48 ชั่วโมง บางชนิดอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์
- อาการรุนแรง อาจมีการอาเจียนและท้องร่วงอย่างหนัก ทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง ซึ่งผู้ที่รับประทานอาหารร่วมกันกับผู้ป่วยมักจะมีอาการแบบเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน
อาการแบบไหนควรรีบไปโรงพยาบาล
แนะนำให้สังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการต่อไปนี้มากกว่า 1 - 2 ข้อ อาจเป็นภาวะอาหารเป็นพิษชนิดรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
- มีไข้
- อาเจียนรุนแรง หรือถ่ายมากผิดปกติ (มากกว่า 8 - 10 ครั้งต่อวัน)
- ซึม ไม่มีแรง อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น
- กรณีเด็กเล็ก อาจมีอาการปากแห้ง ร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา ตาโหล
การป้องกันอาหารเป็นพิษ
- ดื่มน้ำสะอาด
- ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังถ่ายอุจจาระ
- กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ ไม่มีแมลงวันตอม
วิธีการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะอาหารเป็นพิษ
โดยปกติแล้ว ภาวะอาหารเป็นพิษจะสามารถหายได้เองภายใน 24 - 48 ชั่วโมง แนะนำให้รักษาตามอาการโดยการดื่มเกลือแร่ทดแทน สำหรับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย แนะนำให้รับประทานยาแก้คลื่นไส้ อาเจียนด้วย งดรับประทานอาหารประเภทอาหารรสจัด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหนักดอง นม แล้วพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นก็ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ
จากข้อมูลทั้งหมดที่เภสัชกรเล่าให้ฟังในบทความนี้จะเห็นได้ว่า ภาวะอาหารเป็นพิษนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามาก ติดเชื้อได้ทั้งจากการดื่มน้ำและทานอาหาร เภสัชกรจึงแนะนำให้คอยสังเกตตนเองเป็นประจำนะคะ หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะอาหารเป็นพิษขั้นรุนแรง ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลในทันที ด้วยความห่วงใยจาก Fascino ค่ะ
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร
อ่านอะไรต่อดี ?
ท้องเสีย ต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม ?
ยาพาราเซตามอล กินบ่อยอันตรายไหม ?
กินเค็มอันตรายยังไง คนไทยกินเค็มเยอะขนาดไหน
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999