10 ข้อต้องรู้ เรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน ที่ควรรู้ทั้งหญิงและชาย

10 ข้อต้องรู้ เรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน ที่ควรรู้ทั้งหญิงและชาย

หากพูดถึงช่วงมีประจำเดือนแล้วล่ะก็ มักตามมาด้วยสารพันปัญหามากมายจนสาธยายไม่หมด ทั้งปัญหาของคุณผู้ชายที่ไม่เข้าใจเรื่องรอบเดือน ทำไมผู้หญิงต้องหงุดหงิด ทำไมอารมณ์เหวี่ยง ไหนจะความผิดปกติของประจำเดือนที่อาจทำให้ผู้หญิงหลายคนเครียด เรียกว่าเยอะสิ่งจนเวียนหัว วันนี้เราสรุปมาให้แล้วกับ 10 ประเด็นที่ต้องรู้เกี่ยวกับประจำเดือน อ่านจบแล้วสาว ๆ จะหายเครียด หนุ่ม ๆ จะเข้าใจผู้หญิงมากขึ้นแน่นอน 

 

ประจำเดือนคืออะไร

ประจำเดือน คือ เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาทุกเดือน ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิเพื่อเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นร่างกายก็จะขับเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ออกมาในรูปแบบของเลือดประจำเดือน 

 

ประจำเดือนแต่ละคนไม่เท่ากัน

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผู้หญิงแต่ละคนมีประจำเดือนไม่เท่ากัน บางคนมาน้อย 3 วัน แต่ปริมาณมาก แต่บางคนมาวันละน้อย แต่ต่อเนื่องนาน 7 วันก็มี โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาของประจำเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 3 - 7 วัน และจะเกิดขึ้นทุก 21 - 35 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ระดับฮอร์โมน สุขภาพ ความเครียด การพักผ่อน โรคประจำตัว เป็นต้น  

 

ประจำเดือนคือเลือดดีหรือเลือดเสียกันแน่ 

หนึ่งในความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับประจำเดือนก็คือ หลายคนคิดว่าประจำเดือนคือเลือดเสียที่ร่างกายขับออกมา ยิ่งประจำเดือนมามากยิ่งดี เหมือนร่างกายได้ขับของเสียออกมามากขึ้น แต่ความจริงเป็นอย่างที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ ประจำเดือนนั้นคือเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้ใช้งาน จึงถูกขับออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ไม่ใช่เลือดเสียแต่อย่างใด 

 

นับรอบเดือนยังไงไม่ให้งง

สาว ๆ หลายคนอาจไม่รู้ว่าการนับรอบเดือนนั้นมีประโยชน์มาก อย่างแรกเลยจะทำให้เราคาดการวันที่ประจำเดือนจะมาได้ หากเรานับรอบเดือนเป็นประจำก็จะทำให้รู้ว่าเดือนไหนประจำเดือนมาน้อย-มามากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ ใช้นับระยะปลอดภัยก็ได้ หรือใครที่กำลังวางแผนจะมีบุตร การนับรอบเดือนจะทำให้เราคาดเดาวันไข่ตกได้ เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ 

 

การนับง่าย ๆ แบบไม่งง ให้นับวันแรกที่มีประจำเดือนเป็นวันที่ 1 นับไปอีก 28 วันก็จะมีประจำเดือนรอบถัดไป ส่วนวันไข่ตกซึ่งเป็นวันที่มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด คือวันที่ 14 นับจากวันแรกที่มีประจำเดือน (สำหรับคนที่มีรอบเดือน 28 วัน และประจำเดือนมาสม่ำเสมอเท่านั้น) แต่ถ้าใครยังงงอยู่หรือไม่อยากปวดหัวกับการนับวัน ลองโหลดแอพลิเคชั่นช่วยนับรอบเดือนในมือถือมาลองใช้ดูก็เป็นอีกตัวช่วยที่น่าสนใจไม่น้อย

 

อย่างไรก็ตาม การนับรอบเดือนและวันไข่ตกเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่ารอบเดือนหรือวันไข่ตกจะเป็นตามที่คำนวณไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ เช่น บางคนมีรอบเดือน 30 วัน ความเครียด หรือนอนน้อยจากการทำงานหนัก เป็นต้น 

 

หน้า 7 หลัง 7 ไม่ปลอดภัย อย่าเสี่ยงดีกว่า 

การนับระยะปลอดภัยหรือที่เรียกกันว่า “หน้า 7 หลัง 7” เป็นหนึ่งในการป้องกันการตั้งครรภ์แบบผิด ๆ ที่วัยรุ่นนิยมใช้กัน ซึ่งนอกจากเสี่ยงตั้งครรภ์แล้วยังเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย สาเหตุก็เพราะว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงจากความเครียด โรคบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อรอบเดือน และปัจจัยอื่นอีกมากมาย

 

นอกจากนี้ อสุจินั้นสามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 72 ชั่วโมง หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันวันสุดท้ายของระยะปลอดภัยพอดี อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นหากยังไม่พร้อมจะมีบุตร ควรป้องกันด้วยวิธีที่ปลอดภัย อย่างใช้ถุงยางอนามัย หรือใช้ยาคุมกำเนิดจะดีกว่า 

 

ประจำเดือนมีหลายสี

สาว ๆ บางคนอาจกังวลเมื่อเห็นว่าสีของประจำเดือนแต่ละครั้งนั้นไม่เหมือนกันเลย บางครั้งก็มีสีแดงสด บางครั้งก็แดงเข้ม บางครั้งสีเกือบดำเลยก็มี ซึ่งบอกตรงนี้เลยว่าไม่ต้องกังวล เพราะประจำเดือนคือเลือด เมื่อเลือดสัมผัสอากาศก็จะเปลี่ยนสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนานยิ่มเข้ม ดังนั้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องปริมาณของประจำเดือน ลักษณะของประจำเดือน และความสม่ำเสมอของประจำเดือนมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดได้

 

ทำไมต้องหงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน 

หัวข้อนี้ต้องเป็นหนึ่งในคำถามคาใจของหนุ่ม ๆ หลายคนแน่นอนเลย เหตุผลที่ทำให้สาว ๆ หลายคนมีอาการหงุดหงิดก่อนเป็นประจำเดือนนั้นเกิดจากอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรน ทำให้มีอาการหลายแบบ เช่น อารมณ์แปรปรวน กังวล เศร้าซึม หิวบ่อย ปวดหัว เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้น 7 - 10 วันก่อนมีประจำเดือน

 

 

อาหารที่ไม่ควรกินช่วงมีประจำเดือน 

ช่วงมีประจำเดือนเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงต้องใส่ใจตัวเองมากเป็นพิเศษ เพราะฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและอารมณ์ เช่น ปวดท้อง หงุดหงิด อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ซึ่งสาว ๆ ทราบกันมั้ยว่า อาหารบางชนิดอาจทำให้ผลกระทบที่กล่าวมาแย่ลงได้อีกด้วย โดยอาหารที่ควรเลี่ยง ได้แก่

 

  • เนื้อสัตว์ ของมัน ของทอด อาหารกลุ่มนี้เป็นอาหารที่ย่อยยาก ซึ่งช่วงที่มีประจำเดือนนั้นระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ไม่ดี จึงควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย อย่างเนื้อปลา ผัก ไข่ นม แทน
  • อาหารรสจัด หมักดอง และอาหารแปรรูป อาหารหมักดองและอาหารรสจัดจะไปกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ส่วนอาหารแปรรูปที่มีรสเค็มอาจทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้น และยังทำให้ท้องอืดและเจ็บตึงเต้านมอีกด้วย
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้จะยิ่งทำให้อาการปวดท้อง ปวดเมื่อย นอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวนมีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเลือดประจำเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้อ่อนเพลียและปวดท้องมากขึ้น

 

ประจำเดือนไม่มา หากไม่ตั้งครรภ์ แล้วเกิดจากอะไร 

ประจำเดือนไม่มาหรือภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) คือภาวะที่ประจำเดือนไม่มาตามปกติ ซึ่งมี 2 รูปแบบ แบบแรกคือประจำเดือนไม่มาเมื่ออายุถึงเกณฑ์ และอีกแบบหนึ่งคือประจำเดือนไม่มาเกิน 35 วันขึ้นไป ซึ่งนอกจากการตั้งครรภ์แล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ เช่น 

  • ความเครียด 
  • ใช้ยาคุมกำเนิด 
  • น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไป 
  • ออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหมเกินไป 
  • เข้าสู่วัยทอง มักเกิดขึ้นตอนอายุ 45 - 55 ปี  
  • ฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำเกินไป มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง หรืออยู่ในช่วง 2 - 3 ปีแรกของการมีประจำเดือน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือนได้เช่นเดียวกัน แต่พบได้น้อย เช่น รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ท้องนอกมดลูก โรคทางพันธุกรรมบางชนิด รวมถึงปัญหาสุขภาพอย่างโรคตับ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น  

 

ปวดประจำเดือนแบบไหนที่ควรไปหาหมอ  

อาการปวดท้องประจำเดือนนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะมดลูกมีการบีบตัวเพื่อขับประจำเดือนออกมา บางคนอาจปวดมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ถ้ามีอาการปวดท้องตั้งแต่ยังไม่เป็นประจำเดือน จนประจำเดือนหมดแล้วก็ยังไม่หายปวด หรือกินยาแก้ปวดแล้วก็ไม่หายปวด ต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ หรือต้องเปลี่ยนไปใช้ยาแก้ปวดชนิดที่แรงขึ้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ 

โดยอาการปวดท้องประจำเดือนที่ผิดปกตินั้นอาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงโรคร้ายบางอย่างได้ เช่น เนื้องอกในรังไข่ ไส้ติ่งอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ เป็นต้น 

 

เท่านี้คงพอเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนกันมากขึ้นแล้ว หนุ่มๆ จะได้เข้าใจถึงเรื่องวันมามากของผู้หญิงมากขึ้น ส่วนผู้หญิงที่เพิ่งเคยมีประจำเดือน คงเข้าใจเกี่ยวกับเลือดที่เสียไปในแต่ละเดือนกันมากขึ้นนะคะ

 

อ่านอะไรต่อดี ? 

บทความการดูแลสุขภาพ