11 อาหาร พิชิตข้อเสื่อม ลดปัญหาข้ออักเสบ

11 อาหาร พิชิตข้อเสื่อม ลดปัญหาข้ออักเสบ

เมื่ออายุมากขึ้น โรคร้ายต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามาในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคข้อเสื่อมถือเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่หลายคนมักประสบและพบเจอ ซึ่งโรคข้อเสื่อมนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวกเหมือนที่เคย ใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ เรามีเคล็ดลับในการรับมือปัญหาข้อเสื่อมมาฝาก ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงแค่เลือกรับประทานอาหาร

 

ข้อเสื่อมปัญหายอดฮิตชีวิตวัยเก๋า

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้มากที่สุดชนิดหนึ่ง มักเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นตามไปด้วย โรคนี้มีสาเหตุมาจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อที่เกิดจากการใช้งาน เช่น หัวเข่า สะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นบริเวณข้อต่อนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดข้อ ขยับไม่สะดวก ข้อบวม รู้สึกขัด ข้อเข่าโก่ง เป็นต้น โรคข้อเสื่อมสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งการทานยา การผ่าตัด รวมถึงการกายภาพบำบัด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

ข้อเสื่อมแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ

  1. ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ หรือ ไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ ของผิวกระดูกอ่อนตามวัย ซึ่งสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัว เพศหญิง และกรรมพันธุ์
  2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า จากการทำงานหรือเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าต์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

 

อาหาร 11 ชนิดรับมือปัญหาข้อเสื่อม

ใครที่เป็นโรคข้อเสื่อมคงจะทราบดีว่าโรคนี้สร้างความเจ็บปวดและกวนใจมากขนาดไหน เพราะการเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัดนั้นทำให้การเดิน ลุก นั่ง หรือการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันนั้นทำได้ยากลำบากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เจ็บปวดทรมานอีกต่างหาก แต่อาหารทั้ง 11 ชนิดนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบจากโรคข้อเสื่อมได้

* กรณีเป็นโรคข้อเสื่อมบางประเภทที่ต้องทานโปรตีนน้อยลง เช่น ข้อเสื่อมรูมาตอยด์ ควรเลี่ยงการทานผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว และควรปรึกษาแพทย์ ส่วนข้อเสื่อมทั่วไปสามารถทานอาหารเหล่านี้ได้

 

1. ปลาแซลมอน

ปลาทะเลที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 อย่างปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาซาร์ดีน เป็นกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมควรบริโภคเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวโอเมก้า 3 นั้นมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดี แต่ใครที่ไม่รับประทานปลา อาจหันไปรับประทานอาหารอย่างอื่นที่มีโอเมก้า 3 แทน เช่น เมล็ดเจีย วอลนัท หรืออาหารเสริมอย่างน้ำมันปลา เป็นต้น

* กรณีเป็นเกาต์ ควรคุมปริมาณแซลมอนเพราะมียูริกสูง

 

2. ผลิตภัณฑ์นม

ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมไม่ว่าจะเป็นนมสด โยเกิร์ต ชีส เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และวิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการข้อเสื่อมได้อีกด้วย

* กรณีเป็นข้อเสื่อมรูมาตอยด์ ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์นมเพราะโปรตีนสูง

 

3. พืชตระกูลถั่ว

เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม แม็กนีเซียม สังกะสี วิตามินอี และไฟเบอร์ นอกจากนี้ พืชตระกูลถั่วยังมี กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (ALA) ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ถือเป็นไขมันที่มีประโยชน์ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นอย่างดี

* ถั่วมียูริกสูง อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเกาต์ และโปรตีนสูง อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยรูมาตอยด์

 

4. น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอกเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากข้ออักเสบได้ เพราะในน้ำมันมะกอกมีสาร Oleoleocanthal ในปริมาณมาก ซึ่งสารชนิดนี้อาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบคล้ายยาในกลุ่ม NSAIDs (ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์)

 

5. ผลไม้

ผลไม้หลายชนิดมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้ออักเสบ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีสารต้านการอักเสบและช่วยรับมือกับอาการข้ออักเสบได้ นอกจากนี้ ผลไม้ชนิดอื่นอย่างแอลเปิ้ล และทับทิม ก็มีคุณสมบัติช่วยรับมือกับอาการข้ออักเสบได้เช่นเดียวกัน

 

6. ผักใบเขียวเข้ม

ผักใบสีเขียวเข้มนั้นนอกจากจะอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากมายแล้ว ยังมีสารพฤกษเคมีที่ช่วยจัดการความเครียด สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินดี ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน โดยผักใบสีเขียวเข้มนั้นมีหลายชนิด เช่น ปวยเล้ง คะน้าใบหยัก (เคล) เป็นต้น

 

7. บร็อคโคลี่

จุดเด่นของบร็อคโคลี่นั้นนอกจากจะมีรสชาติเฉพาะตัวแล้ว ยังมีประโยชน์ซ่อนอยู่อีกมากมาย เช่น วิตามิน เค วิตามินซี ช่วยบำรุงกระดูก นอกจากนี้ อีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญของบร็อคโคลี่คือ ผักชนิดนี้มีสาร ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่มีการศึกษาวิจัยว่าอาจช่วยชะลออาการข้อเสื่อมได้

 

8. ธัญพืชเต็มเมล็ด

ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือที่หลายคนเรียกว่า “โฮลเกรน (Whole Grains)” นั้นเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการจากธรรมชาติสูงมาก มีวิตามินอี วิตามินบีรวม ใยอาหาร และแร่ธาตุหลากชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องการเสื่อมสภาพของเซลล์ เสริมสร้างระบบประสาท นอกจากนี้ ยังช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรงอีกด้วย

 

9. กระเทียม

กระเทียมเป็นผักสวนครัวที่คนไทยรู้จักกันดี ใช้ประกอบอาหารไทยหลายชนิด นอกจากรสชาติอร่อยถูกใจแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย โดยได้มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในกระเทียมมีสาร ไดแอลลิลไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulfide) ที่อาจมีส่วนช่วยยับยั้งการทำลายกระดูกอ่อนได้

 

10. ขิงและขมิ้นชัน

ขิงและขมิ้นชันนอกจากจะเป็นพืชผักคู่ครัวไทยแล้ว ยังถือเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย โดยทั้งขิงและขมิ้นชันมีคุณสมบัติต้านการอักเสบภายในร่างกาย จึงมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการปวดข้อรวมทั้งปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย

 

11. ชาเขียว

อย่างที่ทราบกันดีว่า ชาเขียวนั้นมีสารอาหารและประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญ ในชาเขียวมีสาร โพลีฟีนอล (Polyphenols) ปริมาณมาก ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสามารถลดการอักเสบและชะลอความเสียหายที่มีต่อกระดูกอ่อนได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: รพ. รามา, Mahidol

บทความการดูแลสุขภาพ