คุณผู้หญิงส่วนใหญ่น่าจะเคยมีอาการปวดท้องประจำเดือนกันมาบ้างใช่ไหมคะ โดยจะมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1 - 2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรก ๆ บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บางครั้งอาการนี้ก็ส่งผลการใช้ชีวิตของเราได้เหมือนกัน วันนี้เภสัชกรชวนมาลอง 5 ทริคที่ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนกันค่ะ
ทริคลดอาการปวดประจำเดือน
- ประคบร้อน โดยใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือแผ่นความร้อน วางไว้บริเวณหน้าท้อง เพราะความร้อนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงผ่อนคลายลง และช่วยบรรเทาอาการปวด รวมถึงการอาบน้ำอุ่นก็ช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน
- จิบน้ำอุ่นระหว่างนั่งทำงาน การจิบน้ำอุ่นธรรมดา น้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำขิงอุ่น ๆ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวก และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีกด้วย
- เริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารอุ่น ๆ ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้น และการดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง แมกนีเซียม แคลอรี่ต่ำ เช่น ถั่วอัลมอนต์ ข้าวโอ๊ต กล้วย นม โยเกิร์ต ผักโขม ผักปวยเล้ง ตำลึง จะช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดความแปรปรวนของฮอร์โมน ลดอาการปวดเกร็งท้องและอาการปวดหลังในช่วงประจำเดือน
- ยืดกล้ามเนื้อ แขน ไหล่ หลัง หรือนวดท้อง จะทำให้คุณสดชื่นขึ้น หรือนวดท้องเป็นวงกลมเบา ๆ และกดที่บริเวณท้องเล็กน้อย ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องผ่อนคลายลง
อาการแบบไหน ที่ควรไปพบแพทย์
สำหรับใครที่มีอาการปวดประจำเดือนบ่อย ๆ หรือปวดเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นได้ อาการผิดปกติที่ควรรีบไปพบแพทย์ เช่น
- อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้นในแต่ละเดือน
- รับประทานยาแก้ปวดแล้วแต่ไม่หาย
- มีอายุมากกว่า 25 ปี และพึ่งรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
- รู้สึกปวดท้องน้อย แม้ไม่มีประจำเดือนมา
- มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
- เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 1 ชั่วโมง
- มีอาการติดเชื้อง่าย เช่น เลือดประจำเดือนมีสีเปลี่ยนไป มีตกขาวตลอดทั้งเดือน ตกขาวมีกลิ่น คันบริเวณช่องคลอด
สำหรับคุณผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนบ่อย ลองใช้ 5 ทริคนี้เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้นดูนะคะ หากใช้ทริคเหล่านี้แล้วยังไม่ได้ผล และยังมีสัญญาณเตือนตามที่กล่าวไป ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาให้ตรงจุดค่ะ
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร