จากงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ เห็นตรงกันว่า "โรคอ้วนไม่ได้เกิดจากการทานไขมันมากเกินไป แต่เกิดมาจากการทานน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป" ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มโดยตรง เพราะอาหารในกลุ่มแป้ง จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน การเผาผลาญ มากกว่าไขมัน การตรวจวัดระดับน้ำตาลจึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลมากเกินไปและลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ อย่าง เบาหวาน มะเร็ง และโรคที่เกี่ยวข้อง
ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม
ปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวันของการทานน้ำตาล คือ ประมาณ 6 – 9 ช้อนชา หรือ 25 – 36 กรัมต่อวัน
จากงานวิจัยพบว่า เฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันทานน้ำตาลถึงประมาณวันละ 22 ช้อนชาต่อวัน และวัยรุ่นทานมากถึง 34 ช้อนชาต่อวัน แน่นอนว่า นอกจากจะทำให้คนส่วนใหญ่น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นโรคอ้วน แล้วยังพบความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ค่อนข้างแน่นอน
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 กรมควบคุมโรคเผยแค่ 5 ปี คนไทยป่วยเบาหวานรายใหม่พุ่ง 1.6 ล้านคน โดยกลุ่มที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างน้อย 4.8 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี อายุที่เป็นโรคเบาหวานก็น้อยลงทุกปี มีคนที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานถึง 7.7 ล้านคน อาจกล่าวได้ว่า คุณสามารถพบคนที่เป็นโรคเบาหวาน 1 คน ในคนไทย 10 – 11 คน
น้ำตาลอาจเหมือนสารเสพติด
การชอบทานน้ำตาลอาจไม่ได้มาจากความชอบส่วนตัว เพราะในรายงานวิจัยเรื่องอาการติดน้ำตาล มีการยืนยันว่า “น้ำตาลมีลักษณะเหมือนสารเสพติดคล้ายเหมือนยาและแอลกอฮอล์” ซึ่งเป็นเหตุทำให้เรารู้สึกว่าขาดไม่ได้ เมื่อขาดก็ไม่มีแรงทำอะไร สมองคิดไม่ทัน และปัญหาอีกหลายอย่างตามมา
เนื่องจากไม่มีการรงณรงค์แบบบุหรี่หรือดื่มเหล้าที่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง ทำให้เราเข้าใจว่าน้ำตาลไม่เป็นอันตราย แต่ก็มีแนวโน้มที่จะได้เห็นแคมเปญโฆษณาให้เลิกทานหวานมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่าง การให้ทานน้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ปัจจุบันมีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลกว่าเมื่อก่อน และค่อนข้างปลอดภัยกว่าสารสังเคราะห์เมื่อสิบกว่าปีก่อน แล้วยังมีพวกสมุนไพรจากธรรมชาติที่ให้ความหวานได้ อย่าง หล่อฮังก้วย และ หญ้าหวาน ที่ทดแทนน้ำตาลได้
น้ำตาลเทียม ไม่แก้ปัญหาอย่างที่คิด
ถึงปัจจุบันจะมีเครื่องดื่มน้ำตาล 0% หรือ ไม่หวาน เพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ แต่ถ้าคุณยังติดหวานอยู่ การทานน้ำตาลเทียมอาจส่งผลเสียมากขึ้น เพราะร่างกายยังต้องการความหวานจนต้องแสวงหาน้ำตาลแบบแท้ๆ มาบริโภค เมื่อทานเพิ่มเข้าไปอีก ทำให้อาจติดน้ำตาลมากขึ้นในอีกระดับจนถึงขีดไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
หยุดหิวน้ำตาลได้อย่างไร ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า เราไม่สามารถหยุดน้ำตาลได้ทันที เหมือนคนที่ติดสุรา หรือ บุหรี่ จะให้เลิกวันเดียวไม่สามารถทำได้ ต้องค่อยๆ ปรับตัว
สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ทานหวานน้อยลง มีดังนี้
- ลดของหวานทุกชนิดลงจากเดิม
- ดื่มน้ำเปล่า ชาที่ไม่มีรสหวาน กาแฟดำ เป็นหลัก
- รับประทานโปรตีนและผักให้มากขึ้น
- ใช้สารให้ความหวานแทนได้ แต่ใช้ให้น้อย
- ระวังน้ำตาลแฝง คอยเช็คในผลิตภัณฑ์เสมอ
น้ำตาลในผลไม้แทนการทานน้ำตาลสังเคราะห์ก็ถือว่าพอช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรทานมากเกินไป
ขั้นตอนเหล่านี้ ไม่ต้องรีบทำแบบวันเดียว โดยลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาหลาย 10 วัน หรือเป็นเดือน แต่ไม่ยากเกินไปแน่นอน
เมื่อลดปริมาณน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว อาจไม่ต้องถึงขั้นต้องเลิกทานหวานก็ได้ แค่ควบคุมให้อยู่ในระดับกำลังพอดี
ถ้ารู้สึกว่าการเลิกทานหวานเป็นเรื่องยากมาก ให้ลองสอบถามคนในครอบครัว ญาติ หรือคนรู้จักที่เป็นโรคเบาหวานว่าชีวิตลำบากแค่ไหน เสี่ยงต่อการตัดนิ้วเท้า ตัดเท้า จากเบาหวานกำเริบ เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนมากมาย ทั้งโรคไตวาย โรคหัวใจ รวมถึงส่วนใหญ่จะอายุสั้นลงเหลือแค่สิบกว่าปี และบางคนตายตั้งแต่วัยรุ่นเพราะไม่ยอมไปหาหมอ
ผลดีของการเลิกทานหวาน ทำให้โอกาสเป็นโรคอ้วนลดลงจากเดิมอีกด้วย ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บหลายโรค โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งที่เติบโตได้ดีจากน้ำตาล ซึ่งต้องอาศัยความอดทนพอสมควร ในการลดปริมาณลง แต่ไม่ยากจนเกินไปอย่างแน่นอน
ขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกร หรือหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ร้านสาขาที่ ฟาสซิโนใกล้บ้าน (คลิ๊ก)
สอบถามทีมงานผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่ Facebook / Line