
โรคเก๊าท์ เกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริคภายในข้อ โดยจะมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ บวมแดง และแสบร้อน ซึ่งตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือเข่า โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หากปล่อยทิ้งไว้อาจะทำให้ข้อกระดูกผิดรูปได้
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ ได้แก่ พันธุกรรม, ภาวะอ้วน, ยาขับปัสสาวะ, โรคความดันโลหิตสูง และอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผักบางชนิด ฯลฯเนื่องจากกรดยูริกในร่างกาย เกิดจากการสร้างขึ้นจากร่างกายของเราเองประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปอีกร้อยละ 20
ดังนั้น เราสามารถลดปัจจัยในการกระตุ้นโรคเก๊าท์ได้ โดยการจำกัดอาหารเหล่านี้ ได้แก่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า, เบียร์
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ตับอ่อน, ไส้, ม้าม, หัวใจ, สมอง, กึ๋น, เซ่งจี๊
- อาหารทะเล เช่น ปลาอินทรีย์, กุ้งชีแฮ้, หอย
- อาหารประเภทที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดที่อมน้ำมันมาก, เนื้อสัตว์ติดมัน
- สัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่, เนื้อเป็ด, เนื้อห่าน
- ซุปก้อน น้ำซุปกระดูก
- ยอดผัก เช่น ยอดผักคะน้า, ยอดผักหวาน, ยอดผักบุ้งจีน
- เมล็ดธัญพืชนานาชนิด เช่น ถั่วเหลือง, ถั่วแดง, ถั่วเขียว
จากข้อมูลที่กล่าวมาในบทความจะเห็นได้ว่า การจำกัดอาหารที่มีพิวรีนสูง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 3 ลิตร เพื่อช่วยขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดอาการของโรคเก๊าท์ และทำให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้
ผู้เขียน
ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ
ภ.45498