ความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ คือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างหลอดเลือดและอวัยวะสำคัญภายในร่างกาย ทำให้มีอาการผิดปกติหลายรูปแบบ ซึ่งบางครั้งอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้เลยทีเดียว ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุก็ป้องกันไม่ได้ แต่บางครั้งก็เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปกระตุ้นให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว มาดูกันว่ามีเคล็ดลับในการรับมือกับความดันโลหิตสูงอย่างไรบ้าง
สาเหตุ
ความดันโลหิตสูงถือเป็นโรคพฤติกรรมชนิดหนึ่ง (NCDs) สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรานั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น กินเค็ม เครียดบ่อย น้ำหนักเกินมาตรฐาน พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
จะเห็นว่าพฤติกรรมแต่ละอย่างเป็นเรื่องทั่วไปที่หลายคนอาจเคยทำหรือกำลังทำอยู่เป็นประจำแทบทั้งสิ้น ทำให้โรคนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
อาการ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงนั้นอันตรายก็เพราะว่า ภาวะนี้จะไม่แสดงอาการในช่วงแรก บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยเป็นปีหรือหลักสิบปีถึงจะเพิ่งแสดงอาการให้เห็นได้ชัด โดยตัวอย่างอาการของภาวะความดันโลหิตสูง ได้แก่
- ปวดหัว
- เวียนศีรษะ
- หายใจถี่
- ตัวร้อนแดง
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น ตามัว มองไม่ชัด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้เช่นเดียวกัน และสิ่งที่น่ากังวลคือผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้อวัยวะสำคัญในร่างกายเสียหาย เช่น หัวใจ สมอง ไต ดวงตา เป็นต้น ซึ่งหากอวัยวะภายได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะความดันโลหิตสูง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว
วิธีรับมือปัญหาความดันโลหิตสูง
เมื่อตรวจพบว่าตนเองมีปัญหาความดันโลหิตสูง บางคนอาจคิดว่าต้องรับยาจากแพทย์เท่านั้นจึงจะควบคุมความดันโลหิตได้ แต่ความจริงแล้วการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยลดและควบคุมความดันโลหิตได้เช่นเดียวกัน
- ควบคุมน้ำหนัก
น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาความดันโลหิตสูง และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง หรือข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น การควบคุมน้ำหนักจึงมีส่วนสำคัญมากในการจัดการปัญหาความดันโลหิต นอกจากนี้ ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
คำกล่าวที่ว่า การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาเป็นยาวิเศษ นั้นดูจะไม่เกินความจริงมากนัก เพราะการออกกำลังกายทำให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง โดยการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตได้
- เลือกรับประทานอาหาร
อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับภาวะความดันโลหิตสูงเช่นเดียวกัน โดยผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรเน้นรับประทานธัญพืช ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- ลดเค็ม
การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งการลดการบริโภคโซเดียมจะช่วยให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น ความดันโลหิตลดลง ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการควบคุมปริมาณโซเดียมนั้นทำได้หลายวิธี เช่น อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้ออาหาร เติมเกลือ น้ำปลาให้น้อยลง ลดการบริโภคอาหารแปรรูป เป็นต้น
- ลดคาเฟอีน
สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ การดื่มกาแฟอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอยู่แล้ว อาจมีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลย ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ชัดเจน อาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมจึงจะบอกได้ว่า คาเฟ่อีนนั้นส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ อย่างไร
- ลดเครียด
ความเครียดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราเป็นอย่างมาก ซึ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับภาวะเครียดเรื้อรังอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังคงต้องศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ หากคุณเป็นคนที่เครียดแล้วชอบทานอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่แก้เครียด ก็จะเป็นการเพิ่มความดันโลหิตได้อีกทางหนึ่งด้วย
- แอลกอฮอล์ ดื่มแต่พอดี
แอลกอฮอล์นั้นหากดื่มในปริมาณที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าดื่มมากเกินไปย่อมเป็นโทษอย่างแน่นอน โดยการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปนั้นจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมถึงยังแอลกอฮอล์ยังไปลดประสิทธิภาพของยาความดันโลหิตอีกด้วย
- เลิกบุหรี่
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าบุหรี่นั้นก่อให้เกิดโทษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งหรือโรคหัวใจ รวมถึงความดันโลหิตด้วยเช่นกัน การเลิกบุหรี่จะทำให้ความดันโลหิตกลับมาอยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายอีกมากมาย
- ตรวจวัดความดันและไปพบแพทย์สม่ำเสมอ
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำก็คือตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองและไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การตรวจวัดความดันโลหิตที่บ้านเป็นเหมือนการเช็คตนเองว่าความดันเป็นอย่างไร ผิดปกติหรือไม่ หากความดันสูงหรือต่ำผิดปกติจะได้รีบไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที