
อาการแพ้รุนแรง เป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปอาการแพ้รุนแรงจะพบได้น้อยกว่า 1% ของประชากร แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบว่าเกิดอาการแพ้รุนแรงเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย วันนี้เภสัชกรจึงชวนทุกคนมารู้จักอาการดังกล่าวกันให้มากขึ้นค่ะ
อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) คืออะไร
อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เกิดจากระบบภูมิต้านทานที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงชีวิต
สาเหตุของอาการแพ้รุนแรงที่พบบ่อยที่สุด คือ การแพ้อาหาร รองลงมาเป็นการแพ้ยา แพ้พิษแมลงอย่างผึ้ง ต่อ แตน มดคันไฟ บางคนแพ้ถุงมือยาง หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากยางลาเท็กซ์ แต่ก็มีบางคนที่หาสาเหตุของการแพ้ไม่พบเช่นกัน
วิธีสังเกตอาการแพ้รุนแรง
อาการแพ้รุนแรง จะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามระบบต่าง ๆ ของร่างกายหลัก ๆ 4 ระบบ เรียงตามอาการที่พบมากที่สุด ได้แก่
- ระบบผิวหนัง ทำให้มีผื่นแดง คัน ลมพิษ หน้า ตา ปากบวม เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากที่สุด
- ระบบทางเดินหายใจ มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ เสียงแหบ หายใจลำบาก แน่นในลำคอ แน่นหน้าอก
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด มีอาการหน้ามืด เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ ช็อก
- ระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการหลายระบบร่วมกัน ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายถึงชีวิต หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีรับมือเมื่อเกิดอาการแพ้รุนแรง
- เมื่อมีอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืด ให้นอนราบลง ห้ามลุกยืนอย่างรวดเร็ว หากหายใจไม่สะดวกให้นั่งเอนตั้งศีรษะสูง แล้วให้คนใกล้ตัวเรียกรถพยาบาลโดยด่วน
- หลังจากรักษาแล้ว ควรทดสอบการแพ้ทางผิวหนังและตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของการแพ้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น
- หากมีอาการแพ้บ่อย ๆ ควรพกชุดยาฉุกเฉินเอพิเนฟรีน (Epinephrine emergency kit) ติดตัวตลอดเวลาเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
- ควรพกบัตรแพ้ยา หรือบัตรที่ระบุรายละเอียดการแพ้ของตนเองติดตัว เพื่อแจ้งสิ่งที่แพ้และอาการแสดง ให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบ เป็นการช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการแพ้ซ้ำ
หากเราเคยมีอาการแพ้รุนแรงมาแล้ว ผู้ที่แพ้ควรจำสารก่อภูมิแพ้ให้ได้ และควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หากคุณแพ้ยาหรืออาหารใด ๆ ควรแสดงบัตรแพ้ยา และแจ้งกับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้ค่ะ
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร