สัญญาณเตือน “โรคไส้ติ่งอักเสบ” รู้ไว้ก่อนภัยมาถึงตัว

สัญญาณเตือน “โรคไส้ติ่งอักเสบ” รู้ไว้ก่อนภัยมาถึงตัว

เคยมั้ย ปวดท้องแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร ? เพราะสาเหตุของอาการปวดท้องมีเยอะมากไม่ว่าจะเป็น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ความเครียด และอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นไส้ติ่งอักเสบ หรืออาจเป็นมะเร็งก็ได้ แต่ทว่าอาการปวดท้องเริ่มรุนแรงขึ้น บริเวณท้องน้อยด้านขวา หรือบริเวณไส้ติ่ง นั่นแสดงถึงอวัยวะทำงานผิดปกติและไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็น “ไส้ติ่งอักเสบ” นั่นเอง

 

โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยในผู้ที่อายุ 10 - 30 ปี ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากการอุดตันของช่องโพรงภายในไส้ติ่ง เช่น มีอาหาร สิ่งแปลกปลอม หรือก้อนอุจจาระแข็งตกลงไปในไส้ติ่ง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ไส้ติ่งบวมและอักเสบในที่สุด

 

วิธีสังเกตอาการไส้ติ่งอักเสบ

ระยะที่ 1 : ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน มักเริ่มมีอาการปวดบริเวณรอบ ๆ สะดือ ช่วงกลางท้องตลอดเวลา บอกจุดที่ปวดแน่ชัดไม่ได้ และมีอาจอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คลื่นไส้ จุกแน่นท้อง เบื่ออาหาร และท้องเสียได้

ระยะที่ 2 : ไส้ติ่งเริ่มบวมโป่งขึ้น อาการปวดจะย้ายมาที่บริเวณไส้ติ่ง หรือท้องน้อยด้านขวา กดเจ็บ เดินตัวงอ และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว ไอ จาม

ระยะที่ 3 : ไส้ติ่งอักเสบและแตกกระจายในช่องท้อง และทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดลามไปทั่วท้อง มีไข้ หนาวสั่น ซึ่งเป็นสัญญานที่บอกว่าควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

 

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไส้ติ่งอักเสบได้ เพราะเป็นอาการเฉียบพลัน ซึ่งหากมีอาการปวดท้องมากกว่า 6 ชั่วโมง ควรงดน้ำงดอาหารและรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ไส้ติ่งแตก เชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

 

ผู้เขียน

ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ 
เภสัชกร

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ

บทความการดูแลสุขภาพ