
ไซยาไนด์ (Cyanide) คืออะไร
ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงมาก ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายรูปแบบ ความรุนแรงมีตั้งแต่ทำให้ผิวหนังระคายเคืองไปจนถึงทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 10 นาที ไซยาไนด์มีอยู่ในหลายรูปแบบ เป็นสารเคมีที่มักใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เครื่องฟอกหนัง การผลิตพลาสติก กระดาษ และสิ่งทอ นอกจากนี้ ไซยาไนด์ยังพบในธรรมชาติและในร่างกายมนุษย์เราอีกด้วย
รูปแบบของไซยาไนด์
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ตัวอย่างเช่น
- Potassium Cyanide (KCN) เป็นไซยาไนด์ที่พบได้ทั้งในรูปแบบของแข็งและของเหลว เมื่อเป็นของเหลวจะมีสีใสไม่มีกลิ่น เมื่อโดนความร้อนจะทำให้กลายเป็นไอและเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดม ไซยาไนด์รูปแบบนี้มักใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืออาจพบในยาฆ่าแมลงได้เช่นกัน
- Sodium Cyanide (NaCN) เป็นไซยาไนด์รูปแบบของแข็ง อาจใช้เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลงบางชนิด รวมถึงในอุตสาหกรรมเหมืองแร่
- Cyanogen chloride (CNCl) ไซยาไนด์รูปแบบนี้มีทั้งที่เป็นของเหลว ส่วนในรูปแบบแก๊สจะมีกลิ่นฉุน เมื่อเผาไหม้จะมีความเป็นพิษอย่างมาก
- Hydrogen Cyanide (HCN) มีลักษณะเป็นของเหลวและแก๊สที่ไม่มีกลิ่น อาจพบได้ในควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย และควันจากโรงงานอุสาหกรรม
อันตรายจาก ไซยาไนด์
จากหัวข้อที่แล้วจะเห็นว่าไซยาไนด์นั้นมีหลายรูปแบบ จึงทำให้สารเคมีชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้หลายช่องทาง ทั้งการสัมผัส การสูดดม และการรับประทาน เบื้องต้นอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้อีกหลายอย่าง เช่น
- เวียนหัว
- คลื่นไส้
- ตัวเย็น
- หายใจติดขัด หายใจช้า
- ร่างกายอ่อนแรง
- ผิวกลายเป็นสีม่วง
- สมองบวม
- ชัก
- หมดสติ
- เสียชีวิต
หากสัมผัสไซยาไนด์ ควรทำอย่างไร
หากบังเอิญไปสัมผัส สูดดม หรือเผลอรับประทานอาหารปนเปื้อนไซยาไนด์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หากสัมผัสทางผิวหนัง ให้รีบถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกและรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย หากสัมผัสดวงตา ให้รีบถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออกและล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 10 นาที เสร็จแล้วให้รีบไปโรงพยาบาล
- หากอยู่ในพื้นที่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนในอากาศ ให้ก้มตัวลงต่ำและรีบออกจากพื้นที่โดยเร็ว
ไซยาไนด์ ที่พบได้ในธรรมชาติ
ไซยาไนด์นอกจากจะเป็นสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการอุสาหกรรมและสารเคมีต่าง ๆ แล้ว ยังมีอยู่ในธรรมชาติอีกด้วย เช่น พืชอย่างมันสำปะหลังดิบ หน่อไม้ดิบ แอปเปิ้ล อัลมอนด์ รวมทั้งกระบวนการเผาผลาญของร่างกายมนุษย์ก็มีไซยาไนด์เช่นกัน แต่ไซยาไนด์ที่มีอยู่ในพืชและกระบวนการของร่างกายมนุษย์นั้นมีปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด
ไซยาไนด์ หาซื้อได้ที่ไหน ?
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตรายไม่ได้มีวางขายทั่วไปตามท้องตลาด และเนื่องจาก ไซยาไนด์ไม่ใช่ยา ไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาได้