ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

พูดถึงยาแก้ปวด คนส่วนใหญ่จะรู้จัก พาราเซตามอล ที่ใช้กันแทบทุกครัวเรือน แต่การปวดในบางกรณี จะต้องทานยาแก้ปวด "เม็ดสีชมพู" แทน ซึ่งชื่อทางยา คือ ไอบูโพรเฟน แล้วยาชนิดนี้เหมาะกับกรณีไหน ใช้ตอนปวดอะไรได้บ้าง และมีข้อจำกัดในการใช้ยาอย่างไร มาทำความเข้าใจกันก่อน

 

ไอบูโพรเฟน คือ อะไร

ยาตัวที่ว่ามีชื่อสามัญว่า ยาไอบูโพรเฟน, ไอบิวพรอเฟน (Ibuprofen) เป็นยาแก้ปวดต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ใช้บรรเทาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ เป็นยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs, non- steroidal antiinflammatory drugs)

ในไทยรู้จักดีในชื่อ ไอบูแมน 400 เม็ดสีชมพู (Ibuman-400) หรือ เม็ดรีสีม่วง ที่เห็นบ่อยตามร้านขายยา


สรรพคุณยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟน ถือเป็นยาแก้ปวดระดับน้อยถึงปานกลาง สามารถใช้บรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน และใช้เป็นยาลดไข้

ทางการแพทย์ยังนำไปใช้รักษาอาการปวดจากโรคข้อบางชนิดและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน

 

การออกฤทธิ์ยาไอบูโพรเฟน

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอบูโพรเฟน โดยจะไปยับยั้งการทำงานของสารไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase) กล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นสารเคมีในร่างกายชนิดหนึ่งซึ่งจะไปเปลี่ยนสารเคมีบางกลุ่มให้กลายเป็นสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) โพรสตาแกลนดินเป็นตัวชักนำให้เกิดอาการปวด การอักเสบ และก่อให้เกิดอาการไข้ของร่างกาย นอกจากนั้นไอบูโพรเฟนยังสามารถออกฤทธิ์โดยตรงที่สมองและบริเวณอวัยวะที่มีอาการปวดได้

 

วิธีทานยาไอบูโพรเฟน ขนาดรับประทานที่เหมาะสม

ยาไอบูโพรเฟนควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร

ไอบูโพรเฟนจัดเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงพอสมควร จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ควรใช้ในปริมาณที่น้อยสุด และไม่ควรใช้เกิน 10 วัน

ขนาดของยาที่รับ ประทานในผู้ใหญ่และเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้

การรักษาอาการปวดศีรษะ ไข้

  • ผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม, วันละ 4-6 ครั้ง รวมไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัม
  • เด็ก 50-300 มก. ตามอายุ ทุก 6-8 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 4 ครั้ง

การรับประทานเพื่อรักษาปวดประจำเดือน

  • เริ่มต้นครั้งละ 200 มิลลิกรัม, ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • อาจเพิ่มปริมาณขึ้นตามความเหมาะ แต่ไม่ควรเกิน 1200 มิลลิกรัมต่อวัน

รักษาอาการป่วยบางโรค ในปริมาณสูงสุด

  • ผู้ใหญ่ 400-800 มิลลิกรัม, วันละ 3-4 ครั้ง รวมไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม
  • เด็ก 30-40 มก./น้ำหนักตัว/วัน, วันละ 3-4 ครั้ง

 

 

ผลข้างเคียงของยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟน อาจมีผลต่อกระเพราะอาหารและระบบทางเดินอาหารได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

ในการรับประทานขนาดต่ำ ๆ มีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้และสามารถทำให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยากับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือระบบหัวใจ

ผลอันไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ของยาไอบูโพรเฟนเช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ ง่วงนอน เกิดผื่นคันทางผิวหนัง และหอบหืด

 

ข้อควรระวังในการใช้ยาไอบูโพรเฟน

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • มีประวัติหอบหืด
  • โรคหัวใจ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้แพ้ยาแอสไพริน
  • แพ้ยาในกลุ่มเอนเสดทั้งหลาย

 

ไอบูโพรเฟนเทียบกับพาราเซตามอล

ยา ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล
คุณสมบัติ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด
ปริมาณที่ใช้ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ขึ้นกับน้ำหนักตัวของผู้ทาน
ผลข้างเคียง อาจมีผลต่อทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ถ้าใช้มากไปอาจมีผลต่อตับ

ถึงจะเป็นยาแก้ปวดเหมือนกัน แต่ใช้แทนกันไม่ได้ โดยยาไอบูโพรเฟนจะเหมาะกับกรณีมีการอักเสบ ปวดข้อต่อ ซึ่งพาราเซตามอลจะไม่มีคุณสมบัตินี้

เรื่องการแพ้ยา พบสัดส่วนที่น้อยมาก โดย พาราเซตามอล จะแทบไม่มีคนแพ้ยาชนิดนี้ ในขณะที่ ไอบูโพรเฟน จะพบคนที่มีอาการแพ้ยาและผลข้างเคียงมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร

วิธีการใช้ยาก็ไม่ได้ตามขนาดน้ำหนักตัว ต่างจากพาราเซตามอล ควรรับประทานตามแพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

ยาทั้งสองชนิดไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ถ้าต้องการทานยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

 

ขอบคุณข้อมูล : ยารักษาใจ, Drags, Medlineplus

ภาพประกอบ: Pixabay


หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง

บทความการดูแลสุขภาพ