
มีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีข้อมูลว่าสามารถรับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้ โดยสมุนไพรชนิดนี้ชื่อว่า โกฐจุฬาลัมพา หรือ โกฐจุฬาลำพา (อ่านว่า โกด จุ ลา ลำ พา) เป็นสมุนไพรที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อเท่าไหร่นัก แล้วเจ้าสมุนไพรชนิดนี้ช่วยต่อสู้โควิดได้จริงหรือเปล่า
โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรชนิดใหม่ สู้ภัยโควิด
มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และ มหาวิยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) พบว่า โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรที่หมอพื้นบ้านไทย สามารถต้านเชื้อโควิดได้ในห้องปฏิบัติการ โดยสารสกัดรวมในน้ำร้อน และใบแห้งของโกฐจุฬาลัมพา (โดยมีตัวอย่างหนึ่งมีอายุมากกว่า 10 ปี) มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อโควิด ซึ่งรวมทั้งสายพันเบตา และอัลฟา
สำหรับการค้นพบนี้ นักวิจัยเชื่อว่าสารที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งไวรัสมรณะนี้นอกจากสาร Artemisinin และองค์ประกอบแล้ว น่าจะมาจาการทำงานของสารอื่น ๆ ในโกฐจุฬาลัมพาด้วย
ข้อควรระวัง ! ต้นโกฐจุฬาลัมพาพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดง มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลืองด้วย พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นแล้ว การใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย
อย่างไรก็ตาม การค้นพบดังกล่าวยังคงเป็นเพียงผลจากห้องปฏิบัติการ ดังนั้นจึงควรรอความชัดเจนจากแพทย์และการทดลองด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ขณะเดียวกันการใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย
ข้อมูลทั่วไปของโกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L. จะจัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE ) มีชื่อสามัญว่า Common wormwood และมีชื่อเรียกอื่นว่า พิษนาศน์ พิษนาด (ราชบุรี), โกฐจุฬาลัมพา (กรุงเทพฯ), ตอน่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น อาจมีการใช้ชื่อ ท่านโกฐฯ ในโซเชียล
พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชียในจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทาง ที่รกร้าง หรือตามชายป่า ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร มีผู้นำมาทดลองปลูกในประเทศไทยและพบว่าขึ้นได้ดี ออกดอกและเป็นผลได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน
เป็นไม้ล้มสุกอายุปีเดียว สูง 0.7-1.6 เมตร แตกกิ่งมากๆ ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนประปราย หลุดร่วงง่าย ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณโคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบนแกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก
สารสำคัญของโกฐจุฬาลัมพา
มีสารอนุพันธ์เซสควิเทอร์พีนแลกโทน (sesquiterpene lactones) หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ ชิงฮาวซู (qinghaosu) หรือ อาร์เทแอนนูอิน (arteannuin) หรืออาร์เทมิซินิน (artemisinin) และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกหลายชนิด เช่น คาสทิซิน (casticin) เซอร์ซิลินีออล (cirsilineol) คริโซพลีนอลดี (chrysoplenol-D) คริโซพลีเนทิน (chrysoplenetin)
ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาในหลายตำรับ ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม ซึ่งมีปรากฏในตำรับ "ยาหอมเทพจิตร" และตำรับ "ยาหอมนวโกฐ" ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิด อื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็น ยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และแก้ลมจุกแน่นในท้อง
และในยาแก้ไข้ ก็มีปรากฏในตำรับ "ยาจันทน์ลีลา" และตำรับ "ยาแก้ไข้ห้าราก" ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรสู้ภัยต้านโควิด-19
สมุนไพรไทย 6 ชนิด มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน
นอกจากโกฐจุฬาลัมพาแล้ว ยังมีสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน บางชนิดก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าสามารถต่อสู้กับโควิดได้
ฟ้าทะลายโจร
อันนี้หลายคนน่าจะคุ้นหูกันอยู่แล้วกับสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรที่ช่วยต่อสู้กับโควิด-19 ได้ จากการศึกษาวิจัย พบว่า ฟ้าทะลายโจร กลไกต้านไวรัส ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์, ลดการแบ่งตัวไวรัสภายในเซลล์, เพิ่มภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส, ลดการอักเสบที่ปอดจากการติดเชื้อไวรัส โดยแพทย์กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองว่า สามารถช่วยรักษาโควิด-19 ได้ และถูกนำมาใช้ในการแจกให้กับผู้ป่วยควบคู่กับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์
กระชายขาว
มีการวิจัยพบว่า สารสกัดจากกระชายขาวสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ COVID-19 ได้ โดยสารสำคัญทั้ง 2 ตัวที่อยู่ในกระชายขาว คือ Pandulatin A, Pinostrobin เพราะจากผลวิจัยในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดกระชายขาว มีประสิทธิผลในการยับยั้ง 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ สามารถที่จะลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อได้ ในส่วนที่สอง คือ การยับยั้งในการผลิตตัวไวรัสออกจากเซลล์ ซึ่งตรงนี้พบว่า สารสกัดจากกระชายขาวเอง ยับยั้งได้ ก็คือเซลล์นั้นไม่สามารถที่จะผลิตตัวไวรัสตัวใหม่ออกมาจากตัวเซลล์ได้เลย
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสารสกัดกระชายขาวจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรค COVID-19 ได้ แต่ก็ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมในด้านความปลอดภัยและปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภค ดังนั้นหากต้องการบริโภคกระชายขาว แนะนำปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
ขิง
“ขิง” เป็นสมุนไพรทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง ที่มีข้อมูลที่น่าสนใจในการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส โดยมีการศึกษาพบว่า น้ำต้มจากขิงสด ยับยั้งการก่อตัวของฟิล์มในปอดจากการติดเชื้อ Respiratory Syncytial Virus ที่สัมพันธ์กับขนาดที่ให้ ยิ่งให้ขนาดสูงขึ้น ยิ่งพบว่า ช่วยเพิ่มการทำงานของระบบพูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส
ขิงมีรสร้อน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการทดลองพบว่า น้ำขิงแก่ต้มน้ำเดือดนาน ๓๐ นาที ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด แมคโครฟาส จับกินไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น
มะขามป้อม
มะขามป้อม เป็นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยพื้นบ้านใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคปอด หอบหืด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยสารสำคัญในมะขามป้อมสามารถจับกับขาโปรตีนของไวรัสโควิด-19 และตัวรับ ACE2 ซึ่งมีบทบาทการผ่านเข้าเซลล์ปอด และยังเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่งที่มีผลต่อการยับยั้งการสร้างและการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสได้
มะขามป้อมมีวิตามินซีสูง ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งในการทดลองในเซลล์และการทดลองในสัตว์ โดยเฉพาะการเพิ่มของ NK cells (เซลล์เพชฌฆาต) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส แก้ไอ ขับเสมหะ ต้านหวัด
กระเทียม
มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน สาร allicin ในกระเทียม มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ป้องกันการหลั่งสาร cytokine ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยเพิ่มแอนติบอดี้ ชนิด immunoglobulin A (IgA) ซึ่งเป็นด่านแรกของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยพบมากที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ตามเยื่อเมือกต่างๆ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของ B-cell lymphocyte รวมทั้งกระตุ้นการหลั่งของสาร interferon ซึ่งเป็นสารที่สร้างในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต้านไวรัส
ขมิ้นชัน
“ขมิ้นชัน” มีสารออกฤทธิ์เคอร์คิวมินอยด์ ซึ่งจัดเป็น ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curucmin) ดีเม็ทธอกซีเคอร์คิวมิน (demethoxycurcumin) และบิส-ดีเม็ทธอกซีเคอร์คิวมิน (bis-demethoxycurcumin) มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ต้านการอักเสบ (anti-inflammation) จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรหาซื้อสมุนไพรต่าง ๆ มารับประทานเองเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดมีปริมาณที่เหมาะสมของตัวเองอยู่ หากใช้มากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี แทนจะเป็นการรักษาแต่อาจกลายเป็นืทำให้สุขภาพแย่ลงได้ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนทุกครั้งก่อนนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก: CH7, Sanook, PPTV36
ภาพจาก: FB Biothai