พฤติกรรมในออฟฟิศที่ทำให้เราปวดหลังโดยไม่รู้ตัว

พฤติกรรมในออฟฟิศที่ทำให้เราปวดหลังโดยไม่รู้ตัว

เมื่อเราจำเป็นต้องนั่งทำกิจกรรมบางอย่างนาน ๆ ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่พบได้มากในกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอด 8-10 ชั่วโมง โดยอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจาก

 

  • ความสูงของโต๊ะทำงานที่ไม่พอดี ต่ำหรือสูงเกินไป ทำให้ต้องก้มหรือเงยหน้าตลอดเวลา 
  • การวางตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับระดับสายตา 
  • การนั่งนานเกินไปไม่ลุกเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ นำไปสู่การเอนตัวไปข้างหน้า ทำให้กล้ามเนื้อคอและหลังยืด 

 

เมื่อเวลาผ่านไป การนั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องนี้ นำไปสู่การพัฒนาอาการของ ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ได้ โดยการรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้

 

  • การใช้ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อทาเฉพาะบริเวณที่ หรือการใช้แผ่นแก้ปวดต่าง ๆ แปะเฉพาะจุดที่มีอาการ
  • การรับประทานยาบรรเทาอาการปวด คลายกล้ามเนื้อ เป็นยากลุ่มบรรเทาอาการปวด แก้อักเสบกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น สำหรับอาการปวดมาก ใช้ยาทาเฉพาะที่ไม่หาย เช่น ยากลุ่ม NSAIDs หรือยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อ สำหรับอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้ออาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือ ง่วงซึม หรือมึนงง ได้
  • การออกกำลังกาย หรือโยคะ จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ และดีต่อสุขภาพอีกด้วย
  • การทำกายภาพบำบัด จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

 

นอกจากการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ควรปรับเปลี่ยนตำแหน่งอุปกรณ์การทำงาน้ให้เกิดท่านั่งที่เหมาะสม เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ ทำได้โดย

  • ปรับจอภาพให้อยู่ในระดับเดียวกันกับสายตา ไม่ทำให้ต้องก้ม เงย หรือหันด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลาทำงาน
  • นั่งห่างจากจอภาพในระยะที่เหมาะสม
  • การตั้งของช่วงคออยู่ในแนวตั้งฉาก และมีความผ่อนคลาย
  • ไม่เกร็งไหล่
  • ระยะปลายแขนถึงข้อศอกขนาดไปกับแนวพื้น ข้อมืองอเพียงเล็กน้อย ข้อศอกทำมุม 90 องศาเป็นรูปตัว L (L-shape) และรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เกร็งแขน
  • หลังพิงพนักเก้าอี้ในแนวตั้งฉาก อาจมีหมอนรองหลังช่วงล่างได้หากต้องการ
  • เวลานั่งสะโพกอยู่สูงกว่าเข่าเล็กน้อย และเข่าควรอยู่ห่างจากเก้าอี้ในระยะที่เหมาะสม
  • ฝ่าเท้าวางระนาบไปกับพื้น หรืออาจใช้อุปกรณ์รองแผ่นเท้าเสริมได้    
  • ขยับเปลี่ยนท่าทาง หรือลุกจากที่นั่งเพื่อผ่อนคลาย ทุก ๆ 30 นาที 

 

อาการปวดหลังอาจเลี่ยงได้ยากหากต้องอยู่ในท่านั่งเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดได้จากการอยู่ในท่านั่งที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว เราสามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้ด้วยการเลือกใช้ยาซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร รวมทั้งการออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัดที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่น คลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

 

อย่างไรก็ตาม วิธีรับมือกับอาการปวดหลังนั้นเราควรแก้ปัญหาที่สาเหตุ นั่นคือการปรับท่านั่งให้เหมาะสม กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ควรผ่อนคลาย หน้าตรง ไม่เกร็งเวลานั่ง หลังพิงพนักเก้าอี้ในระดับตรง เท้าวางระนาบกับพื้น และที่สำคัญ ควรขยับเปลี่ยนท่าทาง หรือลุกจากที่นั่งเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุก ๆ 30 นาทีด้วยนะคะ 

 

สุดท้ายนี้ ยาที่แนะนำในบทความเป็นเพียงการยกตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้ยาช่วยรับมืออาการปวดหลัง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรอย่างละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้งค่ะ 

 

ผู้เขียน

ภก.มนสุดา อร่ามกิจโพธา

เภสัชกร 

 

บทความการดูแลสุขภาพ