"หมึกสายวงน้ำเงิน" หรือ "หมึกบลูริง" (Blue-ringed octopus) มีลักษณะลำตัวขนาดเล็ก มีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงเล็กๆ กระจายอยู่ตามลำตัว และหนวด ตัวโตเต็มวัยมีขนาด 4-5 เซนติเมตร และหนวดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั้งในทะเลอ่าวไทย และทะเลฝั่งอันดามัน อาศัยอยู่ตามซอกหิน และชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในทรายใต้ท้องทะเล เคลื่อนที่โดยการใช้หนวดเดินจะไม่ใช้การพ่นน้ำเพื่อพุ่งตัวในการเคลื่อนที่เหมือนหมึกกล้วย พิษของหมึกบลูริง หรือหมึกสายสีน้ำเงินมีชื่อว่า Maculotoxin (มาคูโลทอกซิน) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า Tetrodotoxin (เทโทรโดทอกซิน)
สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต ผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัดเปรียบเหมือนการฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดโดยตรง โดยพิษจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าพิษจากปลาปักเป้า
อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัดหรือกินหมึกบลูริงเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน มองไม่เห็น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ จากนั้นจะเป็นอัมพาต และหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ตายในที่สุด
เนื่องจาก หมึกบลูริง หาพบได้ในทะเลไทย ทำให้ชาวประมงหรือคนตกปลาเผลอรวมกับปลาหมึกทั่วไป นำมาย่าง หรือ ขายในร้านปิ้งย่าง ซึ่งมีอันตรายมาก เพราะพิษรุนแรง ทนความร้อนสูง เผลอกินมีโอกาสตายได้
จุดสังเกต มีวงกลม "สีน้ำเงิน" ทั่วตัว
หมึกบลูริง มีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลําตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลําตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้สามารถ "เรืองแสง" ได้เมื่อถูกคุกคาม
เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในต่างประเทศ
หมึกบลูริง ในไทยมีกี่สายพันธุ์?
ปัจจุบันทั่วโลกพบว่ามี หมึกบลูริง ทั้งหมดประมาณ 4 ชนิด
สําหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบหมึกสายวงน้ำเงิน สกุล Hapalochlaena maculosa ในบริเวณน่านน้ำไทย ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
ความรุนแรงของพิษหมึกบลูริง
หากโดนพิษ มีความเสี่ยงเสียชีวิต 50-60%
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเตโตรโดท็อกซินจาก หมึกบลูริง มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พิษที่เกิดจากหมึกสายวงน้ำเงิน จะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด
พิษร้ายแรงมากกว่างูเห่า 20 เท่า
หมึกชนิดนี้มีพิษร้ายแรง ยิ่งตอนป้องกันตัวเมื่อมีภัยคุกคาม จะปรากฏวงกลมสีน้ำเงินที่มองเห็นชัดมาก โดยหมึกทะเลชนิดนี้เป็นจำพวกหมึกยักษ์ขนาดเล็ก หากเจอต้องระวังให้มาก เพราะมีพิษร้ายแรงกว่างูเห่า 20 เท่า ผู้ถูกกัดอาจจะตายภายในเวลารวดเร็ว
พิษหมึกบลูริงรุนแรงกว่าไซยาไนด์ 1,200 เท่า
พิษของที่ชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน นั้น เป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท โดยปริมาณพิษที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิตคือประมาณ 1 มิลลิกรัม ซึ่งมีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า
พิษร้าย "เตโตรโดท็อกซิน" อยู่ที่น้ำลายหมึก
หมึกบลูริง มีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกหมึกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ทั้งนี้เตโตรโดท็อกซินไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของหมึก แต่ถูกสร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่กับตัวหมึกบลูริงแบบพึ่งพา (symbiosis)
ทนความร้อนได้ถึง 200 °C
พิษทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงไม่สามารถทําลายพิษได้ด้วยการใช้ความร้อนปกติในการปรุงอาหาร และปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้
อาการเมื่อโดนพิษ
- เริ่มจากการ "ชา" บริเวณริมฝีปาก ลิ้น ต่อมาจะชาบริเวณใบหน้า แขน ขา และเป็นตะคริวในที่สุด
- ต่อมาอาจมีอาการน้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
- กล้ามเนื้อจะเริ่มทํางานผิดปกติ และเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมาก พิษจะเข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หายใจไม่ออก
- เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน จึงไม่สามารถนําอากาศเข้าสู่ปอดได้
- ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง แต่บางเคสมีรายงานพบว่าเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเพียง 20 นาทีเท่านั้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องหาวิธีนําอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนําส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าการช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทําให้ "สมองตาย"
หากพบผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงิน ให้ปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว ทั้งนี้เพื่อทําให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทําให้พิษกระจายมากขึ้น เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ก่อนนําผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ก่อนจะทานปลาหมึก ควรจำลักษณะเด่นของ หมึกบลูริง ไว้ โดยเฉพาะลักษณะเด่นที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน ถึงดูสวยงาม น่ากิน แต่อันตรายกว่าที่เห็นหลายเท่า