อาการปวดศีรษะไมเกรนหรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า ‘ปวดไมเกรน’ เป็นอาการที่ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยหลายคน ซึ่งอาการดังกล่าวจัดเป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่พบได้บ่อย และจะพบในผู้หญิง (ร้อยละ 23 - 26) มากกว่าผู้ชาย (ร้อยละ 7.8 - 10) ซึ่งหลายคนอาจใช้วิธีรับประทานยาแก้ปวดอย่างไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน แล้วยานี้ควรรับประทานอย่างไรให้ปลอดภัย หาคำตอบได้จากบทความนี้
โรคปวดศีรษะไมเกรน คืออะไร
ผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน มักจะมีอาการปวดศีรษะครึ่งซีกเป็นพักๆ ปวดศีรษะตุบ ๆ หรือปวดตามชีพจร บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย โดยมักจะมีอาการปวดแต่ละครั้งประมาณ 4 - 72 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการยาวนานขึ้น และอาการมักจะแย่ลงเมื่ออยู่ในที่แสงหรือจ้า หรือมีเสียงดัง
ใช้ยาไอบูโพรเฟนช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ไหม
สำหรับการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน แนะนำให้รีบรับประทานยาแก้ปวดโดยเร็วที่สุดภายใน 1 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการปวดศีรษะ เพื่อให้อาการปวดศีรษะไมเกรนหายไปโดยเร็วหากปล่อยให้อาการปวดรุนแรงขึ้น การใช้ยาอาจไม่ได้ผล
ยาไอบูโพรเฟน มีข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน สำหรับผู้ใหญ่และวัยรุ่น ควรรับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ด/แคปซูล (200 - 400 มิลลิกรัม) ไม่ควรรับประทานเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยยาชนิดนี้จะระคายเคืองทางเดินอาหาร จึงควรรับประทานยาชนิดนี้หลังอาหารทันที การใช้ยานี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน สามารถใช้ยาแก้ปวดทั่วไปช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ฺNSAIDs) ชนิดอื่น
อาการข้างเคียงจากการใช้ยาไอบูโพรเฟน
ยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นต้น
ข้อควรระวังจากการใช้ยาไอบูโพรเฟน
การใช้ยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคทางหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหารมาก ดังนั้น ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟน ในผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในไอบูโพรเฟน แอสไพริน และยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ ในยานี้
- ผู้ที่มีประวัติเลือดออกในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุ
- ผู้ป่วยโรคไต โรคตับรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืด ลมพิษ หรือโพรงจมูกอักเสบเฉียบพลันจากการแพ้ยาแอลไพริน หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้
สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรใช้หรือไม่
หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 สามารถรับประทานยาไอบูโพรเฟนเพื่อลดอาการปวดศีรษะได้ แต่ผู้ที่มีอายุครรภ์อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 (ประมาณ 30 สัปดาห์ขึ้นไป) ห้ามรับประทานเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
สำหรับหญิงให้นมบุตร ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยานี้ระหว่างการให้นมบุตรมากนัก ยังคงรับประทานได้เพราะตัวยาขับออกทางน้ำนมน้อย
สุดท้ายนี้ การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนทุกตัว ควรเริ่มใช้จากขนาดที่ต่ำสุดก่อน และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานกว่า 10 วันต่อเดือน ยกเว้นแพทย์สั่ง เพราะอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้ในอนาคต
หากใครมีอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อได้รับยาป้องกันการเกิดไมเกรนและช่วยให้อาการสงบลง นอกจากการรับประทานยาแล้ว เราสามารถลดความถี่และความรุนแรงของไมเกรนได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ร่วมกับการนอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร