ตีบ แตก ตัน สามสหายนี้เป็นภาวะอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดกับผู้สูงอายุและอาจแสดงอาการแบบกระทันหัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตหรือทำให้พิการได้เลยทีเดียว โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากกว่า 5.8 ล้านคนต่อปี มากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรคเสียอีก ส่วนในประเทศไทยพบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ เราไปรู้จักเจ้าโรคนี้กันเพิ่มขึ้นอีกซักหน่อยดีกว่า เผื่อวันข้างหน้าโรคนี้เกิดกับเราหรือคนใกล้ตัวจะได้รับมือได้ทัน
รู้จักโรคหลอดเลือดสมองให้มากขึ้น
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองเกิดการตีบ แตก ตัน ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย โดยอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้กับสมองทุกส่วน
ภาวะผิดปกติของหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- กลุ่มสมองขาดเลือด เป็นผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดตีบ ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง โดยกลุ่มนี้มีประมาณ 80 - 90%
- กลุ่มมีเลือดออกในสมอง เป็นผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดฝอยฉีกขาด ทำให้เลือดออกในสมอง โดยกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 15 - 20% ส่วนอีก 5% คือผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดโป่งพองและแตก ซึ่งกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
โรคหลอดเลือดสมองใครเสี่ยงบ้าง
หลายคนอาจเข้าใจว่า ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติพบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองนั้นมีทั้งแบบที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โรคบางชนิด และพฤติกรรมบางอย่าง โดยมีตัวอย่างดังนี้
- มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
- เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง
- มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน
- เป็นผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารรสเค็ม อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล และไขมันทรานส์
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และไปเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด จึงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดตีบตันได้
- การสูบบุหรี่
- มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
สัญญาณเตือนต้องระวัง
อาการของโรคหลอดเลือดสมองนั้นมักเกิดขึ้นอย่างกระทันหันและเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงที่ตามมาได้มากขึ้น โดยสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองมีหลายรูปแบบ เช่น
- ปวดหัวรุนแรงอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เวียนหัว สับสน ร่างกางเสียสมดุล ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ
- การมองเห็นมีปัญหา เห็นภาพเบลอ เห็นภาพซ้อน
- พูดติดขัด การพูดมีปัญหา
- ใบหน้า แขน ขา อ่อนแรง มักเกิดขึ้นเพียงด้านเดียวของร่างกาย หรือเป็นอัมพาต
วิธีป้องกันปัญหาหลอดเลือดสมอง
การลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมองสามารถทำได้หลายวิธี ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับพฤติกรรมของตัวเราเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ตัวอย่างเช่น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง รวมทั้งอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มแต่ละครั้งไม่ให้มากเกินไป
- เลิกบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- หากเป็นโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์