เจ็บหัวใจ แปลว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า อาการแบบไหนที่ควรระวัง

เจ็บหัวใจ แปลว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า อาการแบบไหนที่ควรระวัง

เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก หลายคนมักจะคิดว่าเกิดความปกติเกี่ยวกับ “หัวใจ” โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกที่มีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย ซึ่งความจริงแล้ว อาการเจ็บหน้าอกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แล้วเจ็บแบบไหนที่ควรระวัง แบบไหนควรรีบไปพบแพทย์ เภสัชกรจะพาไปดูกันในบทความนี้ค่ะ  

 

ทำไมอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ ถึงควรระวังและรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

อาการเจ็บหน้าอกจากโรคเกี่ยวกับหัวใจและอันตรายถึงเสียชีวิต คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากการที่หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตาย ไม่สามารถทำงานได้ จนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น 

 

เจ็บหน้าอก อาจเกิดจากโรคอะไรได้บ้าง ?

 

  • โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่จะมีอาการคล้ายโรคหัวใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนที่หน้าอกหรือลิ้นปี่ บางรายอาจแสบร้อนขึ้นมาถึงในลำคอ บางครั้งมีอาการเรอเปรี้ยวร่วมด้วย ซึ่งอาการจะดีขึ้นหลังได้รับยารักษา
  • โรคเส้นประสาทอักเสบ จะมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ เหมือนถูกเข็มแทงหรือถูกไฟช็อต
  • กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกได้รับบาดเจ็บ มักเกิดจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก จะมีโอกาสบาดเจ็บซ้ำได้สูง และมีอาการปวดเรื้อรัง
  • โรคกล้ามเนื้อเอ็นหรือกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบ จะรู้สึกเจ็บเวลาหายใจเข้าลึก ๆ หรือเมื่อเอี้ยวตัว โดยจะเจ็บตลอดเวลานานหลายชั่วโมง หรือเป็นวันแต่ไม่มีอาการร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หากเราพึ่งมีการติดเชื้อไวรัสภายใน 2 - 3 วัน อาจมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ที่หน้าอก ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่เกิดจากการอักเสบในชั้นเนื้อเยื่อรอบหัวใจ 
  • โรคหายใจเกิน หรือที่เราคุ้นกับคำว่า ไฮเปอร์เวนทิเลชั่น (Hyperventilation syndrome) ภาวะที่ทำให้หายใจเร็วผิดปกติ ซึ่งมักเกิดในวัยรุ่นที่อยู่ในอารมณ์เครียด กดดัน โดยจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เกร็งชาทั่วตัว 
  • โรคปอดรั่ว โรคนี้ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งมักจะเจ็บหน้าอกข้างใดข้างหนึ่ง ร่วมกับหายใจไม่อิ่มตลอดเวลา และจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคนี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว หากปล่อยให้มีอาการติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในช่องปอด มักเกิดจากการเดินทางไกล แล้วต้องนั่งอยู่กับที่ไม่ได้ขยับนานหลายชั่วโมง ร่วมกับมีภาวะขาดน้ำ ทำให้รู้สึกเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก แต่ไม่ปวดร้าวไปตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย

 



หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

  • อาการเจ็บแน่นกึ่งกลางหน้าอกอย่างรุนแรง ลักษณะของอาการจะเป็นแบบแน่น ๆ จุก ๆ เหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณหน้าอก
  • มีอาการเจ็บร้าวไปบริเวณอื่น ๆ อย่างคอ หลัง หรือแขนข้างใด ข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง 
  • รู้สึกหอบเหนื่อย หายใจสั้น หายใจลำบาก
  • เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นลมร่วมกับการเจ็บหน้าอก

 

หากมีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายอาการดังกล่าวติดต่อกันเกิน 20 นาทีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที หากเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกนาน ๆ หรือเจ็บแบบผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรีบรักษาให้ตรงจุดเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วย



ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร 

บทความการดูแลสุขภาพ