การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากช่วยป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยาคุมกำเนิดยังมีประโยชน์อีกมากมาย แต่ก็มีผลข้างเคียงจากการรับประทานเช่นเดียวกัน ซึ่งแหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า ผลข้างเคียงของการใช้ยาคุมกำเนิดอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งได้เลย ข้อมูลนี้จริงเท็จอย่างไร สามารถหาคำตอบได้จากความนี้
ยาคุมกำเนิดทำงานอย่างไร ?
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยยาจะออกฤทธิ์ในการควบคุมระดับฮอร์โมนไม่ให้เกิดการตกไข่ เพิ่มความเหนียวข้นให้กับของเหลวบริเวณปากมดลูกเพื่อให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิได้ลำบาก และทำให้ผนังมดลูกบางเพื่อไม่ให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วสามารถฝังตัวได้
ประโยชน์และผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานได้ถูกพัฒนาสูตรให้มีฤทธิ์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ช่วยรักษาสิวที่เกิดจากฮอร์โมน หรือรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน แต่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน น้ำหนักเพิ่มขึ้น ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีเลือดออกกะปริดกะปรอย รวมถึงมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งความเสี่ยงขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดที่เลือกใช้
นอกจากผลข้างเคียงที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเป็นงานวิจัยเชิงวิเคราะห์ทั้งการศึกษาแบบไปข้างหน้าและการศึกษาแบบย้อนกลับ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของมะเร็ง
กินยาคุมกำเนิดไปนาน ๆ แล้วเสี่ยงมะเร็ง จริงหรือไม่ ?
หากพูดถึงมะเร็งในผู้หญิง อันดับที่ 1 คงหนีไม่พ้นมะเร็งปากมดลูกที่พบได้มากในหญิงไทย (71.58%) รองลงมาคือมะเร็งเต้านม (63.99%) โดยมีงานวิจัยพบว่า ในกลุ่มประชากรที่ใช้ยาคุมกำเนิดมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่า 5 ปี แต่ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกจะลดลงเมื่อหยุดใช้ยาคุมกำเนิด อย่างไรก็ดี เชื้อไวรัส Human papilloma ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค
ส่วนมะเร็งเต้านม จากการศึกษาในผู้หญิงกว่า 150,000 คนพบว่า ในกลุ่มที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่ากลุ่มที่เคยใช้ยาคุมกำเนิด (7%) แต่เมื่อหยุดใช้ยาคุมกำเนิดนานกว่า 10 ปี ความเสี่ยงจะลดลงเหลือเท่ากับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด
เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งบางชนิด แต่ก็ลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิด
ในทางกลับกัน ได้มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดกับการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบว่า การใช้ยาคุมกำเนิดมีผลลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยยิ่งใช้ยาคุมกำเนิดนานความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลง และผลในการลดความเสี่ยงนั้นจะยังคงอยู่แม้หยุดยาไปแล้วหลายปี
สุดท้ายนี้ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไม่ได้มาจากการใช้ยาคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ประวัติการสัมผัสสารก่อมะเร็ง การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ แม้แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างการสูบบุรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทั้งสิ้น ดังนั้น การตรวจสุขภาพและคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เราตรวจพบและรักษามะเร็งได้อย่างทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก cancer.gov / ashthailand.or.th / telegraph.co.uk
ภญ.กมลชนก ไทยเรือง
ภ.43404
ผู้เขียน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยาคุมฉุกเฉิน กินบ่อยอันตราย จริงหรือ ?
- คุมกำเนิดแบบไหน ปลอดภัยสุด ?
- ยาคุมกำเนิด 21 เม็ด กับ 28 เม็ด ต่างกันอย่างไร ?
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999