
จากสถิติทั่วโลกพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่กว่า 20% ป่วยเป็นโรคหลอดลมอุดกันเรื้อรัง (COPD) ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญ ความเสี่ยงไม่เพียงเกิดกับผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ยังเกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง อยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ จึงทำให้ปอดถูกทำลาย และมีการอักเสบของทางเดินหายใจ และมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ มากมาย
โรคหลอดลมอุดกันเรื้อรัง คืออะไร
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD) คือ โรคปอดชนิดเรื้อรังที่ผู้ป่วยจะมีพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพองและ/หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรังเกิดร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ หรือเป็นไข้หวัดบ่อยในฤดูหนาว
เลิกบุหรี่ ช่วยอะไร
- ช่วยไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง
- ทำให้หายใจได้ดีขึ้น
- ยืดอายุปอดให้อยู่กับเราได้นานขึ้น
- ลดความเสี่ยงของความทุพพลภาพและการเสียชีวิตได้ 18%
วิธีการปฏิบัติตัวของคนสูบบุหรี่ เพื่อป้องกัน และรักษาการเป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
- งดและหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่หรือมลพิษทางอากาศ
- ลดหรือเลิกสูบบุหรี่
- หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ ควรรีบไปตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ
- ตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อปอดบวมแก่ผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) จะช่วยลดการกำเริบของโรค การต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หากเราไม่รีบดูแลป้องกันตั้งแต่ต้น อาจจะทำให้เกิดการกำเริบของโรคเฉียบพลัน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ การหายใจล้มเหลวหรือหัวใจล้มเหลว และอาจจะเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น หากเราเลิกบุหรี่ จะช่วยลดการเกิดโรค และความรุนแรงของโรคหลอดลมอุดกันเรื้อรังได้
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร