ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ทันรับมือได้

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ทันรับมือได้

ซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน โดยภาวะนี้ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ความรู้สึก และส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดการทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อยได้ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจึงเป็นภาวะอันตรายที่ควรใส่ใจอย่ามองข้าม

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม หรือพันธุกรรม เป็นต้น และเนื่องจากอาการของภาวะดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในจิตใจ จึงต้องหมั่นสังเกตและใส่ใจคุณแม่มือใหม่มากกว่าปกติ โดยหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

  • ตื่นตระหนก หวาดกลัว หวงลูกมาก
  • กังวลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยตลอดเวลา
  • อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้บ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการกิน เช่น เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
  • ไม่สามารถพูดถึงการคลอดลูกได้ หรือพูดเรื่องนี้ไม่หยุด
  • รู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ตลอดเวลา
  • รู้สึกว่าตนเองทำหน้าที่แม่ได้ไม่ดีพอ
  • พูดคุยน้อยลง ไม่เข้าสังคม ทำตัวแปลกแยก
  • ไม่รู้สึกผูกพัน หรือไม่มีความรู้สึกใดๆ กับลูก
  • มีความคิดจะทำร้ายตัวเองหรือลูก ซึ่งอาจรุนแรงถึงชีวิต

ซึมเศร้าหลังคลอดรับมือได้ถ้ารู้ทัน

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมักเกิดขึ้นภายในปีแรกหลังคลอด โดยอาการดังกล่าวสามารถหายไปได้เอง แต่หากนานกว่า 2 สัปดาห์แล้วอาการต่างๆ ยังไม่หายไป มีอาการรุนแรงขึ้น หรือส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกและการใช้ชีวิตประจำวัน ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็ช่วยรับมือภาวะดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถทำได้ ดังนี้

ลดความคาดหวังลง

บางครั้งการตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินไปจะกลายเป็นความกดดันและความเครียดได้ เมื่อต้องทำหน้าที่แม่หลายคนอาจตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเป็นแม่ที่ดีที่สุด ต้องดูแลทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนและไม่มีข้อผิดพลาด แต่ความเป็นจริงมักไม่เป็นเช่นนั้น ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นจึงควรลดความคาดหวังลง ทำหน้าที่แม่อย่างเต็มความสามารถ แล้วผลจะออกมาอย่างไรก็คิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว

ให้เวลาตัวเองบ้าง

การที่ต้องอยู่กับความกดดันและความเครียดตลอดเวลาจะยิ่งทำให้สภาพจิตใจแย่ลง จึงควรแบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนและห่างออกจากความเครียดบ้าง ไปทำสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรกอย่างอ่านหนังสือ ดูหนัง ออกจากบ้านไปช้อปปิ้ง หรือหาร้านกาแฟนั่งฟังเพลง กิจกรรมต่างๆ ที่เราชอบนั้นช่วยจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี

คนรอบข้างพร้อมช่วยเหลือ

หากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยจากการเลี้ยงลูกหรือไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรดี อย่าลืมว่าเราสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ และพยายามอย่าอยู่คนเดียว ใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือกลุ่มสังคม เพื่อพูดคุย ปรับทุกข์ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าตนเองต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ อยู่คนเดียว

ใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีก่อน

การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะการมีสุขภาพดีเป็นยาวิเศษที่ช่วยได้แทบทุกปัญหา และต้องอย่าลืมว่า การจะดูแลเจ้าตัวเล็กได้อย่างเต็มที่นั้นตัวคุณแม่เองต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีก่อน หากทุ่มเทเวลาดูแลลูกน้อยอย่างเดียวจนไม่มีเวลาพักผ่อนหรือดูแลตัวเอง ผลลัพย์ที่ออกมาอาจไม่ดีอย่างที่คาดหวัง

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความการดูแลสุขภาพ