โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายผลิต อินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยหรือไม่ได้เลย ทำให้เมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้ว ร่างกายไม่สามารถนำอาหารนั้นไปใช้ได้อย่างเหมาะสม จนทำให้มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือด หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต หรือระบบประสาท
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม หากที่บ้านของคุณมีผู้ป่วยเบาหวาน การดูแลคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่ควรระวังและคอยติดตามผลเป็นพิเศษ ควรใช้ เครื่องวัดน้ำตาล ตรวจเบาหวานเป็นประจำเพื่อให้ไม่พลาด
ควบคุมอาหาร
การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่สำคัญมาก คือ การเลือกอาหารที่ดีให้กับผู้ป่วย โดยขอแนะนำดังนี้
- เลือกอาหารที่มีพลังงานต่ำ มีใยอาหารสูง
- เลือกผลไม้ไม่หวานจัด เช่น กล้วย ฝรั่ง ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด ขนมปังโฮลวีท นมพร่องมันเนย โดยให้กินแทนขนมวันละ 2-3 ครั้ง
- ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม
- ใช้น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันรำข้าวปรุงอาหาร
- ใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาล
- เลี่ยงอาหารใส่กะทิ อาหารทอด ขนมอบ
- ให้ผู้ป่วยกินอาหารรสอ่อน
ดูแลเท้าของผู้ป่วย
เท้าเป็นอวัยวะที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหากเส้นเลือดส่วนปลายที่มาเลี้ยงขาและเท้าตีบ ก็อาจทำให้เกิดบาดแผลหายยาก และอาจรุนแรงถึงขั้นต้องตัดเท้า
- อย่าให้ผู้ป่วยเบาหวานเดินเท้าเปล่าในบ้านหรือนอกบ้านเพื่อเลี่ยงอุบัติเหตุ
- ตัดเล็บเท้าตรงๆ แทนการตัดโค้งๆ และอย่าตัดลึกจนโดนเนื้อ
- เลือกรองเท้าที่พอดีให้ผู้ป่วย โดยเลือกที่ไม่คับเกินไป อาจเป็นรองเท้าหน้ากว้าง และหลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง
- ให้ผู้ป่วยสวมถุงเท้าหรือถุงน่อง ลดการเสียดสีของเท้ากับรองเท้า
- ตรวจเท้าผู้ป่วยทุกวันว่า มีบาดแผล หรือจุดบวมแดงไหม หากมีแล้วแผลไม่หายได้เอง ให้รีบไปพบแพทย์
ดูแลช่องปากให้สะอาดเสมอ
ผู้ป่วยเป็นเบาหวานมักมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก และเป็นโรคเหงือกอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุมระดับน้ำตาลไม่ดี มักจะทำให้ปากแห้ง เกิดฟันผุ แผลในช่องปาก อาการป่วยต่างๆ ตามมา
- ให้ผู้ป่วยแปรงฟันวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาดวันละอย่างน้อย 6 แก้ว
- พาผู้ป่วยไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน
ออกกำลังกายสู้เบาหวาน
มีการวิจัยที่เชื่อถือได้ออกมาแล้วว่า การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้ เพราะฉะนั้น การพาผู้ป่วยเบาหวานไปออกกำลังกายบ้าง จึงเป็นอีกวิธีที่อยากแนะนำ
ขั้นตอนการออกกำลังกายสำหรับคนเป็นเบาหวาน
- ปรึกษาคุณหมอ เพื่อจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายหลังกินอาหารมื้อหลักไปแล้ว1-2 ชั่วโมง
- ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปก่อนการออกกำลังกาย โดยผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ระดับน้ำตาลไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ระดับน้ำตาลไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ใส่รองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย รวมทั้งตรวจดูเท้า ก่อนและหลัง การออกกำลังกายทุกครั้ง
- ออกกำลังกายสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ศึกษาข้อมูลเรื่องโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานและคนรอบข้างก็ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานเพื่อดูแลผู้ป่วย และควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยขอแนะนำดังนี้
- กินยาสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดีหรือไม่ก็ตาม
- ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเองที่บ้าน และจดบันทึกไว้ เพื่อนำไปแสดงให้แพทย์ดูในนัดครั้งต่อไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ
ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน
- หากเป็นเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ควรงดออกกำลังกายก่อน
- ไม่ควรออกกำลังกาย หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 200/100 มม.ปรอท ขณะพัก
- ไม่ควรออกกำลังกาย หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและยังควบคุมไม่ได้
- ไม่ควรออกกำลังกาย หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก
บทความสุขภาพ
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999