ประเภทของยาล้างแผล ยาเช็ดแผล ยาใส่แผล

Tags:
ประเภทของยาล้างแผล ยาเช็ดแผล ยาใส่แผล

 ยาล้างแผล

ยาที่ใช้สำหรับทำความสะอาดแผลหรือรักษาบาดแผลที่ผิวหนังในเบื้องต้น ก่อนที่จะใช้ยาเช็ดแผล หรือยาใส่แผลเพื่อทำการรักษาและปฐมพยาบาลที่ถูกต้องต่อไป มีประโยชน์ คือ

  1. ใช้ชะล้างเชื้อโรครวมทั้งสิ่งสกปรก ที่อาจปนเปื้อนอยู่ที่แผลให้หลุดออกไปได้ เช่น กรณีบาดแผลที่ถลอกจากการหกล้ม ซึ่งมักจะมีเศษดิน หินหรือสิ่งสกปรกปนเปื้อน
  2. ใช้ชะล้างสะเก็ดแผลให้หลุดลอกออกไป เช่นแผลพุพอง เป็นต้น
  3. ช่วยให้เนื้อเยื่อรอบๆแผลอ่อนตัวลงได้ ทำให้น้ำยาเข้าไปทำความสะอาดได้ดีขึ้น
  4. ช่วยให้ยาที่จะใช้ทาฆ่าเชื้อในขั้นตอนต่อไป ถูกดูดซึมได้ดีขึ้น สามารถฆ่าหรือทำลายเชื้อได้ดีขึ้น
  5. ช่วยลดปริมาณเชื้อและลดอาการอักเสบจากการติดเชื้อได้ อันมีผลช่วยทำให้แผลหรือบาดแผลหายไวขึ้น

ประเภทยาที่ใช้ล้างแผล

1. น้ำเกลือสำหรับล้างแผล

คุณสมบัติ

  • ไม่เกิดการระคายเคือง
  • ใช้ชำระล้างแผล ชะแผลสดและแผลเน่าเปื่อยเป็นหนอง หรือพุพองได้ รวมทั้งชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆได้ดี
  • ช่วยให้แผลสะอาดและไม่คัน

2. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

ชนิดความเข้มข้น 3% เป็นสารที่ไม่คงตัวสลายตัวลงในน้ำได้ง่าย

คุณสมบัติ

  • เหมาะสำหรับทำความสะอาดแผลทั่วไป
  • ใช้ได้ดีกับแผลที่ลึกหรือใหญ่หรือมีสิ่งสกปรกอยู่ด้านในแต่ไม่เหมาะสำหรับแผลที่เป็นโพรงและไม่มีทางออก
  • ใช้ได้ดีกับแผลเรื้อรังและแผลขอบแข็ง คือ ช่วยให้เนื้อเยื่อรอบๆแผลอ่อนตัวลงได้ดี รวมทั้งแผลที่เน่าเปื่อยหรือแผลที่เน่าเปื่อย หมักหมมหรือเนื้อตาย
  • ใช้ล้างหูหยอดหู หรือใช้บ้วนปากได้

หมายเหตุ เวลาใช้ต้องเกิดฟองฟู่ ถ้าไม่มีฟองเกิดขึ้นแสดงว่าน้ำยาเสื่อมคุณภาพแล้ว ในกรณีที่ใช้บ้วนปากต้องผสมน้ำอีกเท่าตัว

3. ด่างทับทิม (Potassium permaganate) 

หาง่าย แต่ไม่ค่อยนิยมใช้

คุณสมบัติ

  • มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้
  • ทำความสะอาดและชะแผลบนผิวหนัง วิธีเตรียมเอาเกล็ดหรือผลด่างทับทิม 2-3 เกล็ดมาละลายในน้ำต้มเดือดที่เย็นแล้วหรือในน้ำสะอาดให้เจือจางจนได้สีชมพูอ่อนๆ ไม่ควรให้น้ำด่างทับทิมเข้มข้นมากเพราะจะทำให้เนื้อแผลไหม้และตกสะเก็ดได้

4. คลอเฮกซิดีน (Chlohexidine)

คุณสมบัติ

  • ไม่ระคายเคืองต่อเยื่อบุและผิวหนัง
  • มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้กว้าง
  • สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Pseudomonas ได้
  • สามารถทำลาย spore ได้

5. เบนซาโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkoniumchloride)

มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้กว้าง ใช้ความเข้มข้น 1 ต่อ 10000 ใช้บ้วนปากได้

6. โซเดียมไฮโปคลอไรด์ 0.5%

คุณสมบัติ

  • ใช้ล้างแผล กัดแผล และชะแผลที่มีเนื้อเน่ามากๆ
  • มักทำให้เกิดการระคายผิวหนัง และยาเสื่อมคุณภาพได้ง่าย
  • ในขนาดเจือจางใช้แช่เท้าและล้างเท้าเพื่อป้องกันโรคจากเชื้อราเวลาน้ำท่วมได้

ขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกร หรือหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ร้านสาขาที่ ฟาสซิโนใกล้บ้าน (คลิ๊ก)

สอบถามทีมงานผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่ Facebook / Line

ยาเช็ดแผล

ยา หรือ น้ำยาที่นำมาใช้เพื่อทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคบริเวณรอบๆ แผลไม่ใช้ใส่แผลโดยตรงเพราะจะทำให้เนื้อตายได้ เช่น
Alcohol ชนิด Ethylalcohol หรือ Isopropylalcohol

คุณสมบัติ

  • ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อกรัมบวก,กรัมลบและเชื้อราแต่ไม่มีผลกับเชื้อที่สร้าง spore ได้
  • ทำให้ผิวหนังสะอาดขึ้น

หมายเหตุ ไม่ควรให้โดนแผลโดยตรงเพราะจะทำให้แผลแสบและระคายเคืองได้ มีผลทำให้แผลหายช้าลงด้วย

 

ยาใส่แผล 

ยาที่ใช้ใส่แผลหรือทาแผลภายหลังจากได้ชำระล้างแผลและเช็ดแผลเรียบร้อยแล้ว ควรเลือกให้เหมาะกับชนิดของแผล ในกรณีของเด็กควรเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยที่สุด

1. ชนิดน้ำ ได้แก่

  • ทิงเจอร์ไอโอดีน ห้ามใช้กับผิวอ่อนเพราะจะแสบและระคายเคืองมาก
  • ทิงเจอร์ไทเมอโรซอล เหมาะกับแผลสด แต่ไม่ควรใช้กับเด็กอ่อน และผิวอ่อน เนื่องมี alcohol ผสมอยู่ด้วย
  • โพวิโดน-ไอโอดีน ใช้ได้ทั้งแผลทั่วไปและแผลไฟไหม้
  • ยาแดง (mercurochrome 2%) นิยมใช้กับแผลสด
  • ยาเหลือง เป็นยารักษาแผลเปื่อย แผลเรื้อรัง ฆ่าเชื้อได้น้อยและออกฤทธิ์ช้า ไม่นิยมใช้กับแผลสด

2. ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง ได้แก่

  • Gentamicin ใช้ได้ผลทั้งกรัมบวกและกรัมลบและ pseudomonas ทั้งแผลสดและแผลเปื่อย
  • Aminacrine cetrimide ใช้ได้กับแผลทั่วไปและแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เช่น Burnol
  • Mupirocin 2% ใช้ได้ผลทั้งกรัมบวกและกรัมลบรวมทั้งสายพันธุ์ที่ดื้อต่อ methicillin เช่น Bactex
  • Fusidate มีฤทธิ์ในการต้านกรัมบวก และชนิดที่ดื้อต่อเพนนิซิลิน ใช้ได้ดีกับผิวหนังที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Fusidic ointment
  • Oxytetracycline ใช้ได้ดีทั้งแผลสด แผลเปื่อย แผลมีหนองและแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เช่น Aureomycin

3. ชนิดผง ไม่ค่อยนิยมใช้โดยเฉพาะกับแผลที่เป็นน้ำเหลือง เพราะผงยาจับตัวเป็นก้อนจนทำให้เกิดการระคายเอง ทำให้เป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ มีผลทำให้แผลหายช้าด้วย

เรียบเรียงโดย ภญ.นิรามัย ไชยวรรณา

 

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้ยาทาแผล ยาล้างแผล การใช้พลาสเตอร์ปิดแผล ให้เหมาะสมกับสภาพแผล

 

บทความสุขภาพที่น่าสนใจ

บทความการดูแลสุขภาพ