
เคยเป็นกันไหมคะ กินยาแล้วคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ แล้วคิดว่าตัวเองแพ้ยาก็ไม่กล้ากินยาอีกเลย แต่ความจริงแล้วอาการเหล่านี้เป็นเพียงผลข้างเคียงจากยาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องหยุดยา สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานยาและเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ ต่างจากการแพ้ยาที่ห้ามทานยาที่แพ้ซ้ำอีก เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้นและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เภสัชกรเชื่อว่ายังมีหลายคนที่สับสนระหว่างอาการแพ้ยาและผลข้างเคียงจากยา วันนี้เภสัชกรได้รวบรวมความแตกต่างของทั้ง 2 อาการมาให้แล้วค่ะ
อาการแพ้ยา
เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป แล้วทำให้มีอาการแพ้ เช่น มีผื่นแดงหรือผื่นลมพิษ ตาหรือปากบวม มีน้ำมูกหรือคัดจมูก ไอหรือหายใจเหนื่อยหอบ มีแผลบริเวณเยื่ออ่อน ผิวหนังไหม้ โดยความรุนแรงไม่สัมพันธ์กับขนาดการใช้ยา เป็นอาการที่พบได้น้อย และไม่สามารถคาดเดาได้
ดังนั้นหากเกิดอาการแพ้ยา ควรหยุดยาทันที จดจำอาการที่แพ้ ถ่ายรูปผื่นที่เกิดขึ้น และรีบไปหาหมอทันที อย่าลืมนำรูปที่ถ่ายไว้ และยาที่ใช้ทั้งหมดพร้อมฉลากยาและรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับยาสำหรับรักษาอาการแพ้ และออกบัตรแพ้ยา ไว้สำหรับการใช้ยาครั้งถัดไป เภสัชกรจะได้หลีกเลี่ยงการสั่งจ่ายยาที่แพ้
ผลข้างเคียงจากยา
เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในขนาดปกติ โดยความรุนแรงของอาการสัมพันธ์กับขนาดยา พบได้บ่อยและสามารถคาดเดาอาการที่จะเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างอาการแสดงเช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
ดังนั้น หากเกิดอาการผลข้างเคียงจากยา สามารถดูแลได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีทานยา และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เช่น ทานยาแก้ปวด Ibuprofen แล้วมีอาการแสบท้องเนื่องจากยาระคายกระเพาะ แก้ไขโดยทานหลังอาหารทันที, รับประทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้ มีผลข้างเคียง ทำให้ง่วงนอน ดังนั้น หลังทานยาควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
ทีนี้ก็แยกความแตกต่างของทั้ง 2 อาการได้แล้วใช่ไหมคะ พอรู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมสังเกตอาการที่เกิดขึ้นตามเช็คลิสต์ หากเป็นอาการแพ้ยาก็จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องตามที่เภสัชกรแนะนำ และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือถ้าเป็นอาการของผลข้างเคียงจากยาก็ไม่ควรปล่อยไว้ สามารถจัดการได้ตามคำแนะนำการรับประทานยา ซึ่งมักจะมีระบุไว้ในฉลากยาแล้ว หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เภสัชกรร้านยาฟาสซิโน ได้ทุกสาขาใกล้เคียงเลยนะคะ
ผู้เขียน
ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ
เภสัชกร