ไขมันในเลือดสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่อยู่ใกล้เรากว่าที่คิด เป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย จากรายงานผลการสำรวจสุขภาพโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีประชาชนกว่าร้อยละ 40 ที่มีไขมันในเลือดสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดคือ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจไปเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าได้
วิธีลดไขมันในเลือดโดยไม่ใช้ยา
การใช้ยาลดไขมันในเลือดมักเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น คนที่มีโรคร่วมหลายโรค แต่ในกรณีของผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วมอื่น ๆ ทางเลือกแรกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดระดับไขมันในเลือด ดังนี้
- เลือกทานไขมันดี หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่จะก่อให้เกิดไขมันร้าย (LDL – Cholesterol) และ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) โดยไขมันร้ายจะพบมากในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และของทอด ซึ่งแตกต่างกับไตรกลีเซอไรด์ที่พบได้มากในอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล กะทิ และของหวานต่าง ๆ โดยเราควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้ไขมันดี (HDL - Cholesterol) ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งได้จากอาหารหลายชนิด เช่น น้ำมันมะกอก อาหารจำพวกปลา อะโวคาโด ซึ่งหากมีไขมันดีมากจะลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งไขมันดียังช่วยจับไขมันตัวร้ายในเลือดออกไปทำลายที่ตับอีกด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในเน้นเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และใน 1 ครั้ง ควรใช้เวลาออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป นอกจากการออกกำลังกายจะลดไขมันร้ายแล้ว ยังสามารถกระตุ้นการสร้างไขมันดีอีกด้วย
- ลดความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้น ทำให้ตับซึ่งมีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น การลดความเครียดจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยอาจเริ่มจากการหาสิ่งที่ชอบทำ ไปในสถานที่ผ่อนคลาย ทำกิจกรรมฝึกสมาธิ เช่น การวาดภาพ เป็นต้น
- เลิกดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ เบียร์ 1 กระป๋อง ขนาด 120 ออนซ์ ให้พลังงานประมาณ 115 แคลอรี่ เทียบเท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพีครึ่ง ดังนั้นการที่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นตัวการขัดขวางการเผาผลาญพลังงานของร่างกายไม่ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่ชี้ว่า บุหรี่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น และไปลดระดับไขมันดี ทำให้เลือดข้นเหนียวง่ายต่อการเกาะตัวเป็นลิ่มเลือดซึ่งเกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้ง่าย ทำให้เลือดไม่ไปที่เลี้ยงหัวใจเเละสมอง อีกทั้งยังเพิ่มการเกาะตัวของก้อนไขมัน คอเลสเตอรอล เเคลเซียม เเละสิ่งอุดตันอื่นๆ ในเส้นเลือดอีกด้วย
ภญ.กมลชนก ไทยเรือง
เลขที่ใบอนุญาต ภ.43404
ผู้เขียน