
คนส่วนใหญ่คิดว่าการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่เรารับประทานอาหารชนิดนั้น แต่ความจริงแล้วยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง” ที่จะไม่แสดงอาการทันที เป็นอาการที่ไม่เหมือนการแพ้อาหารเฉียบพลัน แต่จะเกิดเมื่อเรารับประทานอาหารซ้ำ ๆ จนเกิดอาการแพ้ และจะทำให้หลายคนสับสนว่าเราแพ้อะไรกันแน่ เมื่อปล่อยให้สะสมนานวันเข้า ก็จะนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้แปรปรวน ไมเกรน อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือภูมิแพ้ตัวเอง
ภูมิแพ้อาหารมี 3 ประเภท ได้แก่
- แพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะเห็นอาการค่อนข้างรุนแรง เช่น เกิดผื่นตามตัว หายใจไม่ออก หรือช็อค
- แพ้อาหารแบบแฝง มักจะไม่แสดงอาการให้เห็น
- ภาวะที่ไม่สามารถรับอาหารนั้น ๆ ได้ เช่น การดื่มนมแล้วมีอาเจียนทันที
ภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร
ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง คือ เมื่อร่างกายได้รับอาหารที่แพ้เข้าไปจะไม่ได้แสดงอาการทันที แต่จะสะสมอยู่ภายในร่างกาย อาจใช้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมง แต่จะมีอาการแสดงเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นซ้ำ ๆ จนไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง แล้วทำให้มีอาการแพ้เรื้อรังโดยไม่รู้ตัว เมื่อเกิดอาการแล้ว จะไม่สามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการได้ ต้องใช้วิธีเลี่ยงอาหารที่แพ้อย่างน้อย 6 เดือน จะช่วยให้อาการดีขึ้น
อาการของภูมิแพ้อาหารแฝง
- อาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน จุดเสียดท้อง เรอและผายลมบ่อย เป็นต้น
- อาการทางระบบประสาท เช่น ไมเกรน ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
- อาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว ข้ออักเสบรูมาตอยด์
- อาการทางผิวหนัง เช่น กลุ่มสิวอักเสบ แผลเรื้อรัง ผิวหนังแข็ง ผื่นคัน ลมพิษ สะเก็ดเงิน แผลพุพอง
- อาการทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล ภูมิแพ้ หอบหืด ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ
หากใครมีอาการเหล่านี้ ให้ลองหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัย แต่ถ้าหยุดอาหารเหล่านี้แล้วไม่ดีขึ้น หรือหากยังปล่อยอาการให้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาหรือตรวจวินิจฉัยอย่างถูกวิธี อาจจะนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น เราควรทำการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ช่วยให้เราทราบได้เร็วขึ้น เพื่อให้เราป้องกันและหลีกเลี่ยงจากภัยแฝงของโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร