ลืมยาไว้ในรถ ใช้ต่อได้ไหม หรือควรทิ้งทันที ?

ลืมยาไว้ในรถ ใช้ต่อได้ไหม หรือควรทิ้งทันที ?

การลืมยาไว้บนรถเป็นปัญหาที่หลายคนอาจเคยเจอกับตัวเองหรือคนรอบข้างมาบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำ ทำให้ต้องพกยาสามัญหรือยาสำหรับโรคประจำตัวติดตัวไปด้วยระหว่างเดินทาง จึงมีโอกาสที่จะลืมยาไว้ในรถได้ง่ายขึ้น แล้วถ้าเราลืมยาไว้ในรถแล้ว เราสามารถนำยาที่ลืมทิ้งไว้นั้นกลับมาใช้ต่อได้ไหม หรือควรทิ้งยาไปเลย ? หาคำตอบได้จากบทความนี้

 

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพยา

การเก็บรักษายาให้คงคุณภาพไว้ได้ดีที่สุดนั้น ต้องใส่ใจปัจจัยสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่  

แสงแดด : ตัวยาหลายชนิดเมื่อโดนแสง จะทำให้ตัวยาเกิดการเสื่อมสภาพ จึงควรเก็บยาให้ห่างไกลแสงแดด และไม่แกะเม็ดยาออกจากภาชนะบรรจุเดิมของยาหากยังไม่ต้องการใช้ เพราะเมื่อแกะยาแล้ว ยาจะมีโอกาสโดนแสงแดดซึ่งทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ 

อุณหภูมิ : อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปอาจมีผลต่อคุณภาพของยา โดยทั่วไปมักให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง คือ อุณหภูมิประมาณ 18 - 25 องศาเซลเซียส แต่ยาบางชนิดอาจระบุให้เก็บในตู้เย็น โดยเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่ควรเก็บไว้ที่ช่องแช่แข็งหรือที่ฝาตู้เย็น เพราะเมื่อเราเปิด-ปิดตู้เย็น อาจทำให้อุณหภูมิไม่คงที่ได้

ความชื้น : ตัวยาหลายชนิดเมื่อเจอความชื้นตัวยาจะเกิดการสลายตัว และยาเม็ดส่วนใหญ่เมื่อโดนความชื้นจะมีผลต่อชั้นเคลือบเม็ดยาทำให้บวมหรือเกาะเป็นก้อนได้ จึงไม่ควรเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง และควรปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้ง 

อากาศ : ในอากาศมีก๊าซต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถเร่งให้ยาเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ดังนั้นจึงควรเก็บยาไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และหากยังไม่ได้ต้องการใช้ ไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากภายชนะหรือบรรจุภัณฑ์เดิม

 

ลืมยาไว้ในรถ ทำไงดี ? 

โดยปกติแล้ว การเก็บรักษายาให้อยู่ในสภาพดีและยังใช้งานได้นั้น ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งแสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น และอากาศ การที่เราลืมยาไว้ในรถทำให้ยาสัมผัสถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ทั้งอุณหภูมิที่สูง ความชื้น และการที่ยาต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีก๊าซต่าง ๆ เป็นเวลานาน เป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น 

หากลืมยาไว้ในรถ ก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่ ให้สังเกตุที่เม็ดยาว่ามีสีหรือสภาพเม็ดยาเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ถ้าตัวยามีการเปลี่ยนแปลงไปให้ทิ้งยาไปไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ถ้ายายังคงสภาพเดิมก็สามารถนำมาใช้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอย่าลืมดูวันหมดอายุของยาด้วย 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : med.mahidol.ac.th / yukonlubricants.com 

ภญ.เกวลิน ตั้งจิตบรรเจิด
ผู้เขียน

บทความการดูแลสุขภาพ