กรดไหลย้อนรักษาได้ แค่ปรับพฤติกรรม

กรดไหลย้อนรักษาได้ แค่ปรับพฤติกรรม

กรดไหลย้อน เป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากแบคทีเรียบางชนิด โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดโรคดังกล่าว หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงนั้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง แต่รู้หรือไม่ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างช่วยป้องกันและบรรเทาอาการของกรดไหลย้อนให้ดีขึ้นได้ ซึ่งต้องทำอย่างไรบ้างนั้น สามารถอ่านได้จากบทความนี้เลย

 

กรดไหลย้อนคืออะไร ?

โรคกรดไหลย้อน หรือ Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) เกิดจากการไหลย้อนของกรดที่มากเกินปกติโดยเฉพาะช่วงหลังรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอก (Heartburn) ที่อาจเกิดร่วมกับอาการเรอเปรี้ยว (Acid Regurgitation) ได้ และสามารถเกิดอาการอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบ ฟันสึกในบางตำแหน่ง เป็นต้น

 

กรดไหลย้อนรักษาได้อย่างไร ?

ตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย พ.ศ. 2563 แนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมกับการใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) อย่างน้อย 4 สัปดาห์ในกลุ่มผู้ป่วยที่ปรากฎอาการจำเพาะของโรค โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ในการกำเริบของโรค โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

 

กรดไหลย้อนรักษาได้ แค่ปรับพฤติกรรม

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยตามแนวทางการรักษาฯ สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการกรดไหลย้อนได้ โดยมีคำแนะนำดังนี้

  1. ลดน้ำหนัก สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรืออาการกำเริบเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากการศึกษาโดยการนำผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีน้ำหนักเกินมาเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักเป็นเวลา 6 เดือน น้ำหนักลดลงเฉลี่ยประมาณ 13 กิโลกรัม พบว่า มีความชุกของโรคกรดไหลย้อนและคะแนนการกำเริบของโรคกรดไหลย้อนลดลง
  2. งดการสูบบุหรี่ จากการศึกษาในผู้ป่วยกว่า 20,000 รายพบว่า การหยุดสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงที่ลดลงของอาการกรดไหลย้อนในกลุ่มผู้ป่วยที่น้ำหนักอยู่ในเกณ์ปกติ
  3. งดดื่มสุรา เพราะมีการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างแบบมีการควบคุมพบว่า ยิ่งดื่มสุรามากเท่าไหร่จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการกรดไหลย้อนมากเท่านั้น
  4. ไม่กินอาหารก่อนนอน โดยหลีกเลี่ยงรับประทานอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน สามารถป้องกันอาการกรดไหลย้อนได้ นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่า การนอนโดยยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้วจะลดความเป็นกรดที่บริเวณหลอดอาหารได้ เมื่อเทียบกับการนอนราบ

 

นอกจากคำแนะนำ 4 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เราควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยลดอาการของกรดไหลย้อนได้เช่นเดียวกัน

 

ภญ.กมลชนก  ไทยเรือง

เลขที่ใบอนุญาต ภ.43404

ผู้เขียน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : thaimotility.or.th

บทความการดูแลสุขภาพ