ยารักษากรดไหลย้อน มีอะไรบ้าง ควรเลือกอย่างไร ?

ยารักษากรดไหลย้อน มีอะไรบ้าง ควรเลือกอย่างไร ?

โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่เกิดมาจากพฤติกรรมในแต่ละวันของเรา บางคนไม่ยอมรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่มีกรดหรืออาหารลดจัด น้ำหนักตัวมาก เครียด สูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ทั้งสิ้น จนทำให้หลายคนเกิดอาการปวดแสบร้อนและหายามารับประทาน 

 

อาการกรดไหลย้อน มีอะไรบ้าง

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก มักเกิดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ หรืออาหารมื้อหนัก
  • มีอาการเรอเปรี้ยว รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
  • คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
  • ท้องอืด แน่ท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย
  • มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • จุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
  • เจ็บคอเรื้อรัง ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ

 

การเลือกยารักษากรดไหลย้อน

ปัจจุบัน หากเราพบว่าตนเองเป็นโรคกรดไหลย้อน เภสัชกรจะแนะนำให้รับประทานยาที่ทำให้หยุดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร กลุ่มนี้เป็นอันดับแรก ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ดี

 

ยากลุ่มแรก คือยาที่ทำให้หยุดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ก็คือยาในกลุ่ม Proton – Pump Inhibitors (PPIs) ตัวยาจะทำหน้าที่ยับยั้งการผลิตกรดของกระเพาะอาหาร แต่กินแล้วอาจมีอาการท้องผูก คลื่นไส้ และปวดหัวได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็จะมี Esomeprazole, Omeprazole หรือ Lansoprazole แนะนำให้ใช้เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน

 

อีกกลุ่มใช้ร่วมกัน ยาในกลุ่ม Prokinetic Agents ยากลุ่มนี้จะช่วยให้หูรูดกระเพาะอาหารปิดสนิทขึ้นเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อนออกมาได้ เพิ่มการทำงานของหลอดอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้แปรปวน โดยยาในกลุ่มนี้มักจะใช้ร่วมกันกับยากลุ่ม Proton – Pump Inhibitors (PPIs) ในระยะสั้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Metoclopramide หรือ Cisapride แต่ต้องระวังผลข้างเคียง เช่น เกิดอาการสับสนกังวล ท้องเสีย คลื่นไส้ 

 

ในกรณีที่มีอาการปวดท้องจากกรดเกินที่กระเพาะอาหาร ต้องการยามาบรรเทาอาการก่อน สามารถใช้ยาตัวใดกลุ่มต่อไปนี้ได้ เป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป 

 

  1. ยาที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม ไฮดร็อกไซด์ (Aluminium hydroxide) และ/หรือแมกนีเซียม ไฮดร็อกไซด์ (Magnesium hydroxide) จะออกฤทธิ์ค่อนข้างรวดเร็ว ใช้บรรเทาอาการปวดท้องจากกรดเกิน และท้องอืดเนื่องจากมีแก๊สมากในกระเพาะและลำไส้ แต่ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคไต 

 

  1. ยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ออกฤทธิ์เร็ว และมีฤทธิ์ในการรักษาสั้น เหมาะสำหรับ เมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน 

 

  1. กรดอัลจินิก (Algenic Acid) หรือ โซเดียมแอลจิเนต (Sodium Alginate) เมื่อยาสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นเจลที่มีความสามารถในการจับกับแก๊ส คาร์บอนไดออกไซด์เกิดเป็นโฟมหนืดและลอยตัวอยู่บนผิวของอาหารและน้ำย่อยในกระเพาะจะช่วยลดการระคายเคืองจากกรดในกระเพาะและหลอดอาหาร โดยยากลุ่มนี้มักใช้ร่วมกับยาลดกรดประเภทโซเดียมไบคาร์บอเนต 

 

จุดสำคัญของการรักษาโรคกรดไหลย้อนคือการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย หากรับประทานยาแล้วไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรม อาการเหล่านี้ก็จะกำเริบได้เรื่อย ๆ ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดี หลีกเลี่ยงการรับประทานชา กาแฟ อาหารรสจัด ไม่ควรรับประทานแล้วนอนทันที งดสูบบุหรี่ แล้วรับประทานอาหารที่กากใยอาหาร พยายามไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่ม และออกกำลังกาย 

 

 

ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร 

บทความการดูแลสุขภาพ