ภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุที่หลายคนมองข้าม โดยข้อมูลการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้ามีมากถึงร้อยละ 33 ซึ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้านั้น หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา อย่างโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ หรืออาจทำให้ผู้สูงอายุคิดสั้นได้
ซึมเศร้าช่วงสูงวัย ปัญหาใหญ่ห้ามละเลย
ไม่ใช่แค่เพียงปัญหาทางร่างกายเท่านั้นที่ลูกหลานควรให้ความสำคัญ ปัญหาด้านจิตใจของผู้สูงอายุก็มองข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้สุงอายุเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้านั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางกาย ปัจจัยทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และปัจจัยทางสังคม เช่น
- ความเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง
- การรับประทานยาบางชนิด
- โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น
- การเจ็บป่วยทางกายที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่แข็งแรง
- ต้องออกจากงานประจำ
- ปัญหาการเงิน เช่น รายได้ไม่พอใช้ และหนี้สินรุมเร้า
- สูญเสียคนในครอบครัว หรือบุคคลอันเป็นที่รัก
- ลูกหลานไม่ใส่ใจ ดูแล หรือไม่ให้ความเคารพ
- เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิต แต่ไม่สามารถยอมรับหรือปรับตัวได้
ภาพประกอบ: Freepik
สังเกตอย่างไรเมื่อสูงวัยมีปัญหา
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะภายในจิตใจที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลจึงต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุว่า มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่แปลกไปจากปกติหรือไม่ โดยตัวอย่างของการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคซึมเศร้า มีดังนี้
- พูดคุยน้อยลง
- กินน้อยลง หรือไม่อยากอาหาร
- เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อย หรือปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป นอนน้อยลง นอนหลับไม่สนิท หรือนอนมากขึ้น
- อยากอยู่เฉย ๆ ไม่อยากทำกิจกรรมอื่น ไม่อยากไปไหน
- เมินเฉยหรือเฉยชาต่อกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อน
- เฉยชาต่อสิ่งรอบข้าง
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกเศร้า หมดหวัง สับสน กังวล หรือกลัว
- มีการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือมีคำพูดที่ฟังดูเหมือนไม่อยากมีชีวิตอยู่
ภาพประกอบ: Freepik
วิธีดูแลสูงวัย ปลอดภัยจากโรคซึมเศร้า
- สังเกตพฤติกรรม
สิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุก็คือความใส่ใจ โดยเราต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของสูงวัยที่บ้านอยู่เสมอว่าเป็นอย่างไรบ้าง นอนน้อยลงไหม เบื่ออาหารหรือเปล่า พูดคุยกับคนรอบข้างน้อยลงหรือไม่ หรือมีการกระทำใด ๆ ที่แปลกไป หากเกิดปัญหาขึ้นจะได้หาทางแก้ไขได้ทันเวลา
- รับฟังและให้เวลา
สาเหตหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้านั้นมาจากการที่ลูกหลานหรือคนรอบข้างไม่ใส่ใจ ละเลยและไม่รับฟัง ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกด้อยค่าและไม่มีความสำคัญ การที่มีคนคอยรับฟัง พูดคุย และให้เวลา จะช่วยให้ผู้สูงอายุอารมณ์ดีขึ้น ร่าเริง และรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง
- ระดับน้ำตาลต้องดู
นอกจากสารอาหารทุกหมู่แล้ว ระดับน้ำตาลของผู้สูงอายุก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะน้ำตาลในเลือดนั้นส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุ หากน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น ไม่เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียง่าย แต่ก็ต้องระวังให้ดี หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้
- พาเข้าสังคม หากิจกรรมให้ทำ
กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้านล้วนเป็นผลดีต่อผู้สูงอายุ เช่น พาไปหาเพื่อน ชวนออกกำลังกาย หรือไปช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น การให้ผู้สูงอายุร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ถือเป็นการช่วยฝึกทักษะในการเข้าสังคม ได้พูดคุยกับคนอื่น ฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แจ่มใส ร่าเริง ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกทิ้งอยู่บ้านหรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
- ใช้ความอดทน ค่อยเป็นค่อยไป
ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวน ใช้คำพูดไม่ดี หรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ไม่น่าเข้าใกล้ จุดนี้ต้องใช้ทักษะความสามารถของลูกหลานและผู้ดูแล ต้องอดทน และใช้ความอ่อนโยน ที่สำคัญ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองด้วย โรคซึมเศร้าไม่ได้หายภายในเร็ววันแต่ต้องใช้เวลา ให้ดูแลอย่างเต็มที่ ผู้สูงอายุต้องมีอาการดีขึ้นแน่นอน
- ปรึกษาแพทย์เมื่อมีสัญญาณของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ดังนั้น หากพบว่าผู้สูงอายุที่บ้านมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หรือไม่มั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่ใช่อาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ก็ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
ภาพประกอบ: Freepik
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ยิ่งเกิดกับผู้สูงอายุยิ่งอันตราย ต้องอาศัยความใส่ใจ คอยสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุที่บ้านมีพฤติกรรมที่ดูผิดแปลกไปหรือดูน่าเป็นห่วง ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันโรคร้ายและอันตรายต่อร่างกายที่อาจตามมาในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th / medlineplus.gov / si.mahidol.ac.th