
ภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในอาการของ Long Covid ผมร่วงฉับพลัน หรือ โรคผมผลัด (Telogen Efluvium) เป็นหนึ่งในผลที่ตามมาของโรคโควิด-19 (Consequence) สามารถพบได้ในผู้ป่วยหรือผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 30 โดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุ
เชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบในระบบต่าง ๆ เช่น มีใข้สูง ปอดอักเสบ อ่อนเพลียร่างกายทรุดโทรม โดยจะเกิดสารไซโตไคน์ (Cytokines) ภายในร่างกายสูง ซึ่งส่งผลทำให้ระบบบางส่วนในร่างกายถูกทำลายและกิดการอักเสบ เส้นผมจึงเกิดอาการช็อกและร่วง นอกจากนี้สาเหตุยังอาจเกิดปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่
- ความเครียดหรือความวิตกกังวล ทั้งขณะที่ป่วยและหายป่วย
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาอาการของโรคโควิด-19 บางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาละลายลิ่มเลือด หรือแพ้ยาปฏิชีวนะ
- การดูแลโภชนาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ผู้ป่วยกำลังรักษาตัว หากมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส รับประทานอาหารได้น้อย และน้ำหนักตัวลดมาก อาจส่งผลทำให้ร่างกายทรุดโทรมและมีอาการผมร่วงได้
อาการผมร่วงในผู้ป่วยโควิด-19
- มีผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน ในบางรายอาจสูงถึง 600-1000 เส้นต่อวัน แต่ปกติจะไม่มากกว่า 50% ของผมทั้งศีรษะ
- ผมร่วงมากจนสังเกตได้ หลังจากหายป่วยแล้ว 2-3 เดือน
- ผมร่วงทั่วศีรษะ โดยไม่มีรอยแผลเป็น
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 และเกิดอาการผมร่วงไม่ต้องวิตกกังวล ส่วนใหญ่โรคผมผลัดสามารถหายได้เอง
- ส่วนใหญ่สามารถหายและกลับมาเป็นปกติในระยะเวลา 2-6 เดือน
- ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานวิตามินที่จำเป็นเสริมหรือทายาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) เพื่อช่วยบำรุงและฟื้นฟูเส้นผม วันละ 1-2 ครั้ง
- เลี่ยงยาที่มีส่วนทำให้ผมร่วง เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด Beta blockers, ยารับประทานวิตามินเอและยากันเลือดแข็งตัว ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยา
- ถ้ากังวลกับผมบางชั่วคราว ควรปรับภาพลักษณ์ เช่น ใส่วิก ทำสีผม หรือ จัดทรงผมใหม่ รอจนกว่าจะผมยาวขึ้น
หากผมร่วงไม่ดีขึ้นในเวลา 3-6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อดำเนินการรักษาขั้นต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, กรมการแพทย์
บทความแนะนำ