โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นโรคที่มักเกิดในฤดูร้อน มีสาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไปเมื่อเจออากาศร้อนจัดหรือออกกำลังกายเป็นเวลานาน โดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา โรคลมแดดอาจรุนแรงถึงชีวิตได้เลยทีเดียว
อันตรายจากอากาศร้อน
จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอาการร้อน (Hot-Weather related illness and deaths surveillance) สำนักระบาดวิทยา ช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ระหว่าง พ.ศ. 2558-2561 พบว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 56, 60, 24 และ 18 ราย ตามลำดับ โดยมีอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนสูงสุดเฉลี่ย เท่ากับ 38.9, 38.1, 38 และ 38.1 ตามลำดับ
โรคลมแดดมีอาการอย่างไร ?
อาการที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นโรคลมแดดมี 3 อย่าง คือ มีไข้สูง (อุณหภูมิสูงกว่า 40.5 °C), ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ และไร้เหงื่อ เมื่อระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติจะทำให้มีอาการหลายอย่าง เช่น อาการโซเซ, เป็นลม, กระวนกระวาย, พฤติกรรมผิดปกติ, ก้าวร้าว, ประสาทหลอน หรือหมดสติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดดระยะต้น ๆ มักมีเหงื่อออกมาก แต่ในที่สุดก็จะถึงภาวะไร้เหงื่อซึ่งเกิดจากการที่ปริมาณน้ำในร่างกายน้อยลงและต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ถ้าไม่รีบทำการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยโรคลมแดด
หากมีคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ตัวเป็นลมแดด ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- นำตัวผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จับผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงขึ้น ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
- ราดน้ำเย็นลงบนตัวผู้ป่วยเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายโดยเร็วที่สุด และ/หรือ นำตัวคนไข้แช่ในถังน้ำผสมน้ำแข็ง โดยเว้นส่วนศีรษะเอาไว้
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และเปิดพัดลมช่วยอีกแรง
- ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวผู้ป่วย เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำภายในร่างกาย
- รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 โดยเร็ว
วิธีป้องกันโรคลมแดด
- เมื่อทราบว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศ
- ดื่มน้ำ 1 - 2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 6 - 8 แก้วเช่นเดียวกัน
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน น้ำหนักเบา ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือเมื่อต้องอยู่ที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด
- สำหรับเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
ฮีทสโตรก โรคลมแดด สาเหตุ อาการ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
ภก. ธนธรณ์ กุลเกียรติประเสริฐ
เลขที่ใบอนุญาต ภ.43236
ผู้เขียน