สมุนไพรเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีประวัติควบคู่กันมากับชีวิตของมวลมนุษยชาติมาช้านาน ในครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์ของสมุนไพรในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งความรู้ และประสบการณ์ในการรักษาโรคนี้ได้รับการบอกเล่า สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ
กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เล็งเห็นประโยชน์ของสมุนไพร และได้กำหนดไว้ในนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2536 อย่างชัดเจน และให้การสนับสนุนประชาชนได้ใช้ยาจากสมุนไพรอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
ในปี พ.ศ. 2527 - 28 ใช้สมุนไพร 57 ชนิด รักษาอาการโรค 24 อาการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้ตัดอาการโรคบางอาการออก เช่น บิด ฯลฯ และเพิ่มบางอาการโรคเข้าไป เช่น ปวดฟัน ลมพิษ และโรคเริม งูสวัด ได้มีการปรับปรุงแก้ไข และใช้สมุนไพรรวมกันเป็น 61 ชนิด รักษาอาการโรค 21 อาการ ยกตัวอย่างเช่น
กลุ่มอาการโรคระบบทางเดินอาหาร
อาการท้องผูก
> มะขามแขก โดยให้ใช้ใบแห้งวันละ 1-2.5 กำมือ ต้มน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชกน้ำดื่ม หรือใช้ฝัก 4-5 ฝักต้มน้ำดื่ม
> มะขาม โดยใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียกรสเปรี่ยว 10-20 ฝัก จิ้มเกลือรับประทาน แล้วดื่มน้ำตามมากๆ หรือเติมน้ำคั้นใส่เกลือเล็กน้อยดื่มเป็นน้ำมะขาม
> ขี้เหล็ก โดยใช้ใบอ่อนหรือแก่ 4-5 กำมือต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาการเช้าหรือเวลามีอาการ
> ชุมเห็ดเทศ โดยใช้ดอกสดประมาณ 3 ช่อลวกรับประมาน หรือใช้ใบสดหรือแห้งประมาณ 12 ใบ ต้มน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว
> ชุมเห็ดไทย โดยใช้เมล็ดแห้งคั่วจนเหลือง 10-13 กรัม ต้มน้ำดื่ม
อาการท้องเสีย
> กล้วยน้ำว้า โดยใช้เนื้อกล้วยน้ำว้าห่ามรับประทานครั้งละ 0.5-1 ผล หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่น ตากแห้งรับประทานครั้งละ 1/2-1 ผล
> ฝรั่ง โดยผลอ่อน 1 ผล ฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน
> มังคุด โดยใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1/2 ผล ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณ 1/2 แก้ว หรือบดผงละลายน้ำข้าวหรือน้ำสุกรับประทานทุก 2 ชั่วโมง
กลุ่มอาการไข้
> บอระเพ็ด โดยใช้เถาหรือต้นสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ โดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือเวลามีอาการ
กลุ่มอาการโรคในระบบทางเดินหายใจ
อาการไอ/ขับเสมหะ
> มะแว้งเครือ, ต้น โดยใช้ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแหลกคั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ
> มะนาว โดยใช้ผลสดคั้นเอาน้ำเติมเกลือจิบบ่อยๆ
> ขิง โดยใช้เหง้าแก่สดฝนกับมะนาวแทรกเกลือกวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
> มะขาม โดยใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียก จิ้มเกลือรับประทาน หรือต้มเป็นน้ำมะขาม
เรียบเรียงโดย ภญ.วิลาสินี รัตนพรหม
ที่มา
- http://www.gpo.or.th/rdi/oldmedicine/t47-t48-g56-g116.html
- เอกสารประกอบการเรียน วิชาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน รวบรวมโดยคณาจารย์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกร หรือหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ร้านสาขาที่ ฟาสซิโนใกล้บ้าน (คลิ๊ก)