ไวรัสเริม สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

ไวรัสเริม สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

โรคเริมคืออะไร ? โรคเริมเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) ทําให้เกิดตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกลุ่มประมาณ 2 - 10 เม็ด และเกิดแผลขึ้นที่บริเวณผิวหนังหลายส่วนบนร่างกาย เช่น ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ โรคเริมสามารถติดต่อได้ง่ายหลายช่องทาง เช่น การสัมผัส หรือติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ เริมเป็นโรคเรื้อรังที่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ทุกเมื่อหากร่างกายอ่อนแอ 

 

สาเหตุของโรคเริม

เชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus ที่เป็นสาเหตุของโรคเริมนั้นมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

1. Herpes Simplex Virus-1 (HSV-1) มักพบการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุริมฝีปาก ในช่องปาก หรือใบหน้า

2. Herpes Simplex Virus-2 (HSV-2) ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักพบที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอกและในช่องคลอด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเริม

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคเริมซ้ำได้แก่ ความเครียด วิตกกังวล แสงแดด เป็นไข้ พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนเพลีย ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ และการผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาท

 

อาการของโรคเริม

  1. การติดเชื้อในช่องปากและเหงือกอักเสบ คออักเสบ มีเม็ดตุ่มพองขึ้นที่เยื่อเมือกของช่องปาก พบได้หลายตำแหน่ง โดยแผลจะค่อย ๆ หายภายใน 2 สัปดาห์
  2. การติดเชื้อเริมที่ริมฝีปาก มีเม็ดแดงแสบคันประมาณ 1 - 2 วัน ต่อมากลายเป็นตุ่มหนองใส
  3. การติดเชื้อเริมที่กระจกตาและเยื่อบุตา ทําให้เกิดอาการตาแดงข้างเดียวก่อนแล้วจะลามไปที่กระจกตา เริ่มแรกจะเป็นแผลตื้น และแผลอาจลุกลามมีลักษณะแตกกิ่งก้าน หรือเป็นแผลรูปกลม ซึ่งอาจทําให้ตาบอดได้
  4. การติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้เกิดอาการบวมพุพองบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก มีอาการคัน ปวดแสบร้อน และเจ็บบริเวณที่เกิดรอยโรค

 

อาการที่ควรรีบพบแพทย์

  • มีไข้สูง และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 3 วัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง 
  • เริ่มมีอาการทางดวงตา เช่น เริ่มเจ็บตา เคืองตา น้ำตาไหล  
  • รอยโรคตุ่มน้ำกลายเป็นหนอง  
  • กล้ามเนื้อแขน/ขาอ่อนแรง ชัก และ/หรือโคม่า

 

ถึงแม้เริมจะเป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะเริมเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย ผู้ที่มีเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ทำให้สังเกตและป้องกันได้ยาก อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ดังนั้นหากใครที่มีอาการของโรคเริม ก็ควรไปพบแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง 

 

 

ผู้เขียน

ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ 

เภสัชกร 

 

อ่านอะไรต่อดี ?

ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อเป็น “โรคเริม”

เคล็ดลับหน้าใสไร้ฝ้า บอกลาจุดด่างดำ

หูด เรื่องเล็กชวนหนักใจ รักษาได้หลายวิธี

เรื่องที่ควรรู้ของ Niacinamide ตัวช่วยมากคุณประโยชน์

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ

บทความการดูแลสุขภาพ