ความเครียดพร้อมพุ่งเข้าหาเราตั้งแต่ลืมตาตื่น ทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว เรื่องความรัก ความสัมพันธ์ การเดินทาง และปัญหาอีกร้อยแปดที่พร้อมรบกวนสมองและจิตใจให้มีเรื่องต้องคิดตลอดเวลา เรียกได้ว่าปัญหาเรื่องเครียดเป็นปัญหาปกติที่คนสมัยนี้ต้องพบเจอ เล็กน้อยอาจไม่เป็นไร แต่ถ้าเครียดมากไปปัญหาสุขภาพมาหาแน่นอน วันนี้เรามีเคล็ดลับกำจัดความเครียดมาฝาก ติดตามได้จากบทความนี้เลย
ความเครียดคุณอยู่ระดับไหน?
ความเครียดนั้นมีหลายระดับแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของความเครียดที่เกิดขึ้นกับแต่ละคน หากใครที่มีความเครียดมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยความเครียดแบ่งได้เป็น 4 ระดับ มีรายละเอียด ดังนี้
1. ความเครียดระดับต่ำ (Mild Stress) เป็นความเครียดระดับเบาที่สุด อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกเล็กน้อย เช่น เบื่อหน่าย เชื่องช้าลง ขาดแรงกระตุ้น แต่ไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากนัก
2. ความเครียดระดับปานกลาง (Moderate Stress) ความเครียดระดับนี้ถือว่ายังอยู่ในระดับปกติไม่รุนแรงจนน่ากังวล และไม่แสดงอาการชัดเจน เมื่อทำกิจกรรมที่ตนเองชอบเพื่อผ่อนคลาย ความเครียดระดับนี้ก็จะหายไปได้เอง
3. ความเครียดระดับสูง (High Stress) ความเครียดระดับนี้เริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตแล้ว ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายได้หลายรูปแบบ เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง หงุดหงิดง่าย เป็นต้น ควรมีคนที่ไว้ใจคอยพูดคุยและปรึกษา หรือปรึกษาแพทย์หากมีอาการรุนแรง
4. ความเครียดระดับรุนแรง (Severe Stress) เป็นความเครียดระดับสูงสุด ส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง เช่น มีอาการทางจิต อารมแปรปรวน โดยความเครียดระดับนี้จัดการยาก และอาจมีอาการต่อเนื่องนานหลายเดือนหรือเปนปีได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
เครียดมาพาโรค
เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา (อะดรีนาลีน และ คอร์ติซอล) ซึ่งเจ้าฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและร่างกายตื่นตัวและพร้อมตอบสนองอย่างรวดเร็วกว่าปกติ หากเกิดความเครียดเป็นครั้งคราวอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายก็จริง แต่ถ้าเครียดบ่อยอาจก่อให้เกิดผลเสียและทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายหลายชนิด เช่น
● ทานเยอะกว่าปกติ
● แปลกแยกจากสังคม
● กรดไหลย้อน
● ปวดท้อง ท้องเสีย
● เวียนหัว อาเจียน
● ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
● ป่วยง่าย
● เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
● โรคเบาหวาน
● โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
วิธีจัดการความเครียดด้วยตัวเอง
วิธีจัดการความเครียดนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรศึกษาและนำไปปรับใช้จัดการกับความเครียดของตัวเอง ไม่ควรคิดว่าความเครียดจะหายไปได้เองหรือไม่มีผลกระทบอะไร เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความเครียดนั้นพาโรคร้ายแรงมาหาเราได้มากกว่าที่คิด โดยเคล็ดลับจัดการความเครียดนั้นทำได้หลายวิธี เช่น
ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายเราแข็งแรงอยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ความเครียดก็จะตามมาด้วย นอกจากนี้ การรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ทุกมื้อ ยังอาจช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
คำที่บอกต่อกันมานานว่า “กีฬาเป็นยาวิเศษ” นั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะการออกกำลังกายช่วยให้ทั้งสุขภาพกายแข็งแรงและสุขภาพใจดีขึ้น ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมคือ 30 นาทีต่อวัน 150 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ถ้าใครมีเวลาว่างน้อย ออกกำลังกายน้อยก็ไม่เสียหาย เพราะจะมากจะน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ออกกำลังกายเลย
ให้เวลากับความผ่อนคลาย
ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย การพักผ่อน ทำงานอดิเรก หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายจึงจำเป็นมากกว่าเดิม เช่น นวดแผนไทย เล่นโยคะ ดูหนัง ฟังเพลง เดินเล่นในสวนสาธารณะ เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากอย่างที่คิด เพียง 15 - 20 นาทีกับกิจกรรมเหล่านี้ก็สามารถบรรเทาความเครียดได้
แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
บางครั้งความเครียดก็หาสาเหตุยากหรือหาสาเหตุไม่เจอ เมื่อไม่ทราบสาเหตุก็ยากที่จะจัดการกับความเครียดนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือพยายามสังเกตตัวเองและวิเคราะห์ว่า ความเครียดของเรานั้นเกิดจากอะไร งาน ชีวิตส่วนตัว หรือเรื่องไหน เมื่อค้นไปจนเจอต้นตอของความเครียดแล้วก็หาทางจัดการแก้ปัญหาให้เรียบร้อย ความเครียดก็จะหายไปเอง
เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม
อุปกรณ์สำนักงานอย่างโต๊ะ เก้าอี้ หรือจอคอมพิวเตอร์เป็นอีกจุดหนึ่งที่หลายคนมองข้าม หากเรานั่งทำงานแล้วมีปัญหาปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดตา ซึ่งสิ่งที่จะตามมาก็คือความเครียดนั่นเอง ดังนั้นการเลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่เหมาะสมกับการนั่งทำงานตลอดทั้งวันจึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเครียดได้อีกทางหนึ่ง
พูดคุยกับคนที่พร้อมรับฟัง
การเก็บทุกปัญหาไว้กับตัวเองไม่ใช่เรื่องดี การพูดมันออกมาบ้างหรือหาคนปรึกษาไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนอ่อนแอหรือล้มเหลวในชีวิต ยังมีอีกหลายคนที่รักและพร้อมรับฟังเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง ญาติที่เคารพ รวมถึงนักจิตบำบัดและแพทย์ การได้พูดคุยกับบุคคลเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ระบายความในใจออกมาเพื่อให้รู้สึกสบายใจและคลายเครียดได้
หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน
ความขัดแย้งภายในที่ทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ หากเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลต่อการทำงานร่วมกันในองค์กรและผลงานที่จะออกมาในอนาคต ทางที่ดีคือหลีกเลี่ยงการมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหาทางรับมือให้เหมาะสมที่สุด
อย่ายึดติดกับความความสมบูรณ์แบบ
เมื่อลงมือทำงานหรือทำกิจกรรมบางอย่าง บางคนจะเพ่งสมาธิเต็มที่มุ่งหวังให้งานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นดาบ 2 คมที่ทำร้ายตัวเองได้เหมือนกัน เพราะความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทางที่ดีจึงควรเปลี่ยนแนวคิด เช่น “ผิดพลาดไม่เป็นไรแก้ไขได้” หรือ “ไม่ต้องถึงขั้นสมบูรณ์แบบแค่ทำให้ดีที่สุดก็พอ”
แบ่งเวลาเดินเล่นตอนพักเที่ยง
การทำงานย่อมมีความเครียดและความกดดันเป็นธรรมดา แต่เราก็สามารถหาเวลาว่างเล็กน้อยระหว่างวันเพื่อคลายเครียดได้ อย่างที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่ง การเดินไปทานข้าวหรือได้ใช้เวลาเดินเล่นหลังทานข้าวแม้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็สามารถช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้แล้ว
คลายเครียดด้วยเสียงเพลง
เสียงเพลงเป็นความผ่อนคลายที่ฟังได้ทุกที่ทุกเวลาแม้ในเวลางาน นอกจากช่วยคลายเครียดแล้ว เสียงเพลงยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ช่วยพัฒนาสมอง ช่วยให้มีสมาธิ ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เป็นต้น
วิธีคลายเครียดจากการทำงานและการใช้ชีวิตนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ละคนก็มีวิธีที่เหมาะสมกับตนเองซึ่งอาจไม่เหมือนกันก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคืออย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม และคอยสังเกตตัวเองเป็นประจำ หากรู้สึกมีความเครียดควรรีบหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต
บทความแนะนำ
วิธีแก้ปัญหาหิวไม่หยุด เครียด ในช่วงก่อนมีประจำเดือน