
“กรดไหลย้อนขึ้นคอ” (Laryngopharyngeal Reflux : LPR) เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กวนใจคนในยุคนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนเมืองวัยทำงานที่ใช้ชีวิตบนความกดดัน เร่งรีบ ไม่ใส่ใจพฤติกรรมการกิน จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกรดไหลย้อนขึ้นคอได้ บางคนอาจสงสัยว่าแล้วมันต่างจากกรดไหลย้อนทั่วไปอย่างไร อันตรายกว่ากันหรือไม่ หาคำตอบของทุกคำถามได้จากบทความนี้เลยค่ะ
กรดไหลย้อนขึ้นคอ
เมื่อเราเคี้ยวอาหารและกลืนลงคอไปแล้ว อาหารจะเดินทางผ่านหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาหาร โดยที่ปลายสุดของหลอดอาหารจะมีหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอยู่ ทำหน้าที่เปิดให้อาหารเคลื่อนผ่านไปที่กระเพาะอาหาร และปิดเพื่อไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมา
เมื่อหูรูดส่วนนี้ปิดไม่สนิทหรือทำงานผิดปกติ จะทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารและลำคอ ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณหลอดอาหาร คอ และกล่องเสียงได้รับความเสียหายได้
กรดไหลย้อนขึ้นคอนั้นเป็นปัญหาปกติสำหรับทารก เนื่องจากทารกนั้นมีหลอดอาหารสั้นและกล้ามเนื้อหูรูดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ประกอบกับทารกนอนเกือบตลอดเวลา จึงเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อนขึ้นคอได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
อาการกรดไหลย้อนขึ้นคอ
สำหรับอาการของภาวะกรดไหลย้อนขึ้นคอนั้นจะทำให้รู้สึกระคายเคืองบริเวณคอ รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้อีกหลายประการ โดยอาการของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น
● แสบร้อนบริเวณคอ
● รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ที่คอ
● กลืนลำบาก
● เสียงแหบ
● มีเสมหะ
● กล่องเสียงอักเสบ บวม แดง ระคายเคือง
● ไอเรื้อรัง
นอกจากนี้ หากใครเป็นกรดไหลย้อนขึ้นคอแล้วปล่อยไว้ไม่รักษา ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อปอด รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้อีกหลายชนิด เช่น มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น
กรดไหลย้อนขึ้นคอ ต่างจากกรดไหลย้อนอย่างไร?
กรดไหลย้อนกับกรดไหลย้อนขึ้นคอนั้นมีอาการคล้ายกัน กล่าวคือ
- ภาวะกรดไหลย้อน คือ การที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร
- หากกรดไหลย้อนขึ้นมาถึงลำคอหรือกล่องเสียง ก็จะเรียกว่า ภาวะกรดไหลย้อนขึ้นคอ
ซึ่งกรดไหลย้อนทั้ง 2 ชนิดนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กรดไหลย้อนขึ้นคอมีอีกชื่อหนึ่งว่า “กรดไหลย้อนเงียบ (Silent Reflux)” สาเหตุเพราะผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเด่นของกรดไหลย้อนอย่างแสบร้อนกลางอก ทำให้วินิจฉัยได้ยาก
กรดไหลย้อนขึ้นคอป้องกันได้ไหม?
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อนขึ้นคอได้แบบร้อยเปอเซ็นต์ แต่เราสามารถปรับนิสัยการกินและพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนขึ้นคอได้ ตัวอย่างเช่น
● ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
● ไม่ทานอาหารก่อนนอน ควรทานเสร็จอย่างน้อย 2 ชั่วโมงค่อยเข้านอน
● หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด อาหารมัน และอาหารที่มีกรดสูง
● หลีกเลี่ยงการทานช็อกโกแลต รวมถึงมินต์ และอาหารที่มีรสมินต์
● หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โซดา เป็นต้น
● ลดความเครียด พยายามอย่าเครียดเกินไป
● ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป
● งดดื่มแอลกอฮอล์
● เลิกสูบบุหรี่
ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากเราไม่ระวังหรือไม่ใส่ใจพฤติกรรมการกินของตัวเอง นอกจากจะเกิดขึ้นได้ง่ายแล้ว กรดไหลย้อนยังอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้อีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมนำคำแนะนำจากบทความนี้ไปปรับใช้ เพื่อให้เรามีสุขภาพดี ทานอาหารอร่อย ห่างไกลโรคร้ายกันนะคะ
กรดไหลย้อน ปล่อยไว้ระวังกลายเป็นมะเร็ง
ขอบคุณข้อมูลจาก webmd.com / my.clevelandclinic.org
ขอบคุณภาพประกอบจาก Freepik
อ่านอะไรต่อดี ?
- กรดไหลย้อนรักษาได้ แค่ปรับพฤติกรรม
- ยากรดไหลย้อน มีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร ยา กรดไหลย้อน
- 7 อาหาร ช่วยต้านกรดไหลย้อน อาหาร กรดไหลย้อน
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999