ข้อควรระวัง ก่อนใช้เมลาโทนิน ช่วยในการนอนหลับ

ข้อควรระวัง ก่อนใช้เมลาโทนิน ช่วยในการนอนหลับ

เมลาโทนินคือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นได้เองจากต่อมไพเนียล โดยร่างกายจะสร้างฮอร์โมนชนิดนี้เมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ดังนั้นความสว่างในห้องนอนมีผลต่อการผลิตเมลาโทนิน การนอนในห้องที่มืดสนิทจึงเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่หากในห้องมีแสงไฟรบกวน เช่น แสงจากโคมไฟหรือแสงจากจอมือถือ ก็อาจทำให้ร่างกายสร้างเมลาโทนินน้อยลง และส่งผลให้นอนไม่หลับได้

โดยในปัจจุบัน ได้มีการนำเมลาโทนินมาทำเป็นยาและอาหารเสริมวางขายตามท้องตลาด ซึ่งประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนเมลาโทนินเป็นยาอันตราย ส่วนเมลาโทนินที่ผลิตออกมาในรูปแบบอาหารเสริมหรือขนมเยลลี่นั้นไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย การซื้อยานอนหลับผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

 

ประโยชน์ของเมลาโทนิน

ประโยชน์ของเมลาโทนินส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการนอนหลับ แต่ก็มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของเมลาโทนินด้วยเช่นกัน โดยประโยชน์ของเมลาโทนินมีหลายประการ เช่น

  • รักษาอาการนอนไม่หลับ (Insomnia)
  • บรรเทาอาการเจ็ตแล็ก (Jet Lag)
  • รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Syndrome)

ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า เมลาโทนินอาจมีส่วนช่วยรักษาปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนอนได้ เช่น ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ด้านนี้ของเมลาโทนินยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาอยู่ จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมจึงจะสามารถยืนยันได้ว่าเมลาโทนินมีส่วนช่วยรักษากลุ่มโรคดังกล่าวได้จริง

 

อันตรายของการใช้เมลาโทนิน

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า อะไรที่มากเกินไป ไม่พอดี มักทำให้เกิดโทษเสมอ เมลาโทนินก็เช่นกัน หากใช้มากเกินไปหรือใช้อย่างไม่ระวังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มึนหัว ปวดหัว อุณหภูมิร่างกายลดลง ฝันร้าย ง่วงระหว่างวัน ดังนั้นใครที่ใช้เมลาโทนินไม่ควรขับรถหรือควบคุมเครื่องจักร นอกจากนี้ การใช้เมลาโทนินยังอาจส่งผลให้ร่างกายสร้างเมลาโทนินน้อยลงอีกด้วย

 

เมลาโทนินไม่ได้เหมาะกับทุกคน

เมลาโทนินอาจมีประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาด้านการนอนหลับก็จริง แต่การใช้เมลาโทนินในคนบางกลุ่มอาจเป็นก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยผู้ที่ไม่ควรใช้เมลาโทนิน ได้แก่

  • เด็กและวัยรุ่น
  • สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยาต้านเกล็ดเลือด, ยากันชัก, ยาคุมกำเนิด, ยารักษาโรคเบาหวาน, ยาลดภูมิคุ้มกัน, ยาวาฟาริน เป็นต้น
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกผิดปกติ รวมถึงผู้ที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น

 

เมลาโทนินใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

สำหรับการใช้เมลาโทนินให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ควรใช้เมลาโทนินตามปริมาณที่ระบุไว้บนฉลาก ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนร่วมด้วย เช่น ไม่เล่นมือถือก่อนนอน ไม่เปิดโทรทัศน์หรือโคมไฟทิ้งไว้ระหว่างนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายสร้างเมลาโทนินได้มากขึ้น

บทความการดูแลสุขภาพ