
ช่วงหลายเดือนมานี้ทุกท่านคงได้ยินชื่อโรคฝีดาษลิง จากที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนให้เราเฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือ ซึ่งโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปีในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ปัจจุบันโรคฝีดาษลิงกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ซึ่งเห็นได้จากข่าวการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพร้อมกัน วันนี้เภสัชจึงอยากชวนไปรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น
โรคฝีดาษลิงคืออะไร ?
โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเป็นพาหะ โดยเฉพาะลิงหรือสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู แพรีด็อก ฯลฯ เชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์หรือผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านอากาศได้แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองในเวลาไม่กี่สัปดาห์
อาการของโรคฝีดาษลิง
อาการของผู้ติดเชื้อของโรคฝีดาษลิง แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการช่วง 5-21 วันหลังจากได้รับเชื้อ
ระยะที่ 2 ระยะไข้ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
ระยะที่ 3 ระยะผื่น 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น ผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น จนกระทั่งผื่นแผลแห้งเป็นขุย
ระยะที่ 4 ระยะฟื้นตัว 2-4 สัปดาห์ ในระยะนี้ตุ่มหนองจากผื่นจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
ระยะเวลากักตัว
เชื้อใช้เวลาฟักตัวนาน ทำให้อาการฝีดาษลิงแสดงอาการช้ามา อาจต้องรอถึง 21 วัน ทำให้กลุ่มเสี่ยงต้องใช้เวลากักตัวนานและถ้าแสดงอาการ ต้องใช้เวลาในการรักษานาน รวมเวลาอาจต้องใช้เวลาตั้งแต่เฝ้าสังเกตอาการจนถึงรักษานานถึง 50-60 วัน
วิธีป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ติดเชื้อ หรือเมื่อต้องเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย
- หมั่นทำความสะอาดบริเวณที่เสี่ยงจะสัมผัสของเหลวจากผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง เช่น ฝารองนั่งชักโครกในที่สาธารณะ ควรใช้แอลกฮอล์เช็คถูก่อนใช้งาน
โรคฝีดาษลิงคืออะไร
วิธีป้องกันและรักษาโรคฝีดาษลิง
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยตรง แต่ทุกท่านสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้สูงถึง 85%
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร
อ่านอะไรต่อดี ?
"แพ้ยาไหม" ทำไมต้องถามทุกครั้งที่จ่ายยา ?
โรค ASF ติดจากหมูสู่คนได้หรือไม่ อันตรายต่อร่างกายแค่ไหน
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999