“ครรภ์เป็นพิษ” (Preeclampsia) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดความปกติขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันสูง ภาวะมีโปรตีนในปัสสาวะ มือบวม หน้าบวม โดยอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษมีความรุนแรงหลายระดับ ซึ่งอาการของผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการร้ายแรงถึงชีวิตได้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีลูกจึงควรศึกษาข้อมูลของภาวะนี้ให้ดีก่อน จะได้รับมือได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร?
ในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า พันธุกรรม ความผิดปกติของหลอดเลือด และโรคแพ้ภูมิตนเอง อาจเป็นสาเหตุของภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษได้ เช่น
- ตั้งครรภ์ขณะยังเป็นวัยรุ่น
- ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
- ตั้งครรภ์ครั้งแรก
- ตั้งครรภ์แฝด
- มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- เป็นโรคประจำตัวบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไต ไมเกรน มีแนวโน้มจะเป็นโรครูปัสหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น
อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นเลยก็ได้ โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยมีหลายรูปแบบ เช่น
- มีความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- มีโปรตีนปนในปัสสาวะหรือมีอาการที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา
- มีอาการบวมตามร่างกาย เช่น หน้าบวม มือบวม เท้าบวม
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- ปัสสาวะน้อย
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
- มึนหัวหรืออาเจียนอย่างหนัก
- สายตาพร่าเลือน เห็นภาพเบลอ มองไม่เห็นชั่วคราว
- ปวดท้องด้านบนขวา
- มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- หายใจลำบากโดยมีสาเหตุจากของเหลวในปอด
- มีอาการชัก
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ภาวะครรภ์เป็นพิษยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้อีกหลายประการ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะเลือดออกผิดปกติเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด ตับเสียหาย ไตวาย เป็นต้น
ภาวะครรภ์เป็นพิษป้องกันได้ไหม?
ครรภ์เป็นพิษยังคงเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ในปัจจุบัน แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้หลายวิธี เช่น ควบคุมน้ำหนักตั้งครรภ์ ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาและอาหารเสริมระหว่างตั้งครรภ์ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
ครรภ์เป็นพิษถือเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของแม่และเด็กได้หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ดังนั้น คุณแม่ควรไปฝากครรภ์และไปพบแพท์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีสัญญาณของความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รับมือได้ทัน และอย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อความปลอดภัยและความสุขของแม่และลูกน้อย
ขอบคุณภาพจาก : freepik
ขอบคุณข้อมูลจาก : webmd.com / healthline.com / mayoclinic.org