
เซโรโทนินซินโดรม คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการมีสารเซโรโทนินมากเกินไป ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการใช้ยา เช่น ได้รับยาหรืออาหารเสริมที่เพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกายร่วมกัน 2 ชนิดขึ้นไป, อยู่ในช่วงปรับขนาดยาให้สูงขึ้น, ได้รับยาเกินขนาด หรืออาจเกิดจากความไวต่อยาที่แตกต่างกันไป
อาการของเซโรโทนินซินโดรม
หากมีอาการเซโรโทนินซินโดรม อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมึนงง กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุก แข็งเกร็ง หนาวสั่น มีเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดศีรษะ รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเริ่มใช้ยาหรือเพิ่มขนาดยาที่มีฤทธิ์เพิ่มระดับสารเซโรโทนินในร่างกาย
ตัวอย่างกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณสารเซโรโทนินในร่างกาย มีดังนี้
1. กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่
1.1 ยาในกลุ่ม serotonin reuptake inhibitors (SSRI) เช่น fluoxetine, citalopram, sertraline, paroxetine
1.2 ยากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (serotonin and norepinephrine reuptake Inhibitors: SNRIs) เช่น venlafaxine, duloxetine
1.3 ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCA) เช่น amitriptyline, nortryptyline, imipramine
2. ยากลุ่มอื่น อาหารเสริม และสมุนไพรที่ควรระวัง สำหรับผู้ที่ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นประจำ เช่น
2.1 ยารักษาไมเกรน เช่น sumatriptan, almotriptan, naratriptan
2.2 ยารักษาอาการปวดบางชนิด เช่น tramadol, fentanyl, entazocine, pethidine
2.3 ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น metoclopramide, ondansetron
2.4 ยารักษาโรควิตกกังวล นอนไม่หลับ เช่น buspirone, trazodone
2.5 ยาแก้ไอบางชนิดอย่าง dextromethorphan
2.6 ยากันชักบางชนิดอย่าง valproate
2.7 อาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น St. John's Wort, โสม
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดเซโรโทนินซินโดรม ผู้ป่วยควรแจ้งยาที่กำลังใช้อยู่ให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งก่อนเริ่มรับการรักษา หากกำลังใช้ยาที่มีผลต่อระดับเซโรโทนินตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรปรับลดขนาดยาเอง หยุดยาเอง หรือซื้อยามาใช้เอง หากมีอาการเซโรโทนินซินโดรมอย่างรุนแรงหลังจากเริ่มใช้ยาไปแล้ว เช่น มีไข้สูง มีอาการชัก หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่รู้สึกตัว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ผู้เขียน
ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ
เภสัชกร