
เมื่อโลกเปลี่ยนสังคมสมัยใหม่ก็เปลี่ยนตาม มีการออนไลน์ติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา ก็ทำให้เทรนด์ของสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เช่น เด็กยุคใหม่นอนดึกกว่าเดิม หรือคนทำงานหนักขึ้นจนเวลานอนเหลือน้อยลง กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่บ่อนทำลายคุณภาพการนอน แล้วยังทำให้เกิดความเครียดสูงขึ้นอีกด้วย จนเกิดโรคทางจิตใจและทางกายอื่น ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วแบบไหนที่เรียกว่านอนน้อย
ความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องนอนหลับให้ครบ 8 ชั่วโมงเสมอไป เพราะในแต่ละวัยก็มีระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมแตกต่างกัน เช่น
- เด็กแรกเกิด ควรนอนวันละ 20 ชั่วโมง
- ช่วงขวบปีแรก ควรนอนวันละ 12 ชั่วโมง
- เด็กวัยประถม ควรนอนวันละ 9 - 11 ชั่วโมง
- อายุ 18 ปีขึ้นไป ควรนอนวันละ 7 - 9 ชั่วโมง
คนที่นอนน้อย มักจะมีอาการผิดปกติเหล่านี้
- ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น อยากจะนอนต่ออีก
- สามารถหลับไปภายในเวลา 5 นาที เมื่อมีโอกาสได้นอน
- มีอาการเหนื่อยและง่วงระหว่างวัน
- อารมณ์ไม่ดี หรือสมาธิลดลง
- ประสิทธิภาพในการควบคุมตนเองลดลง
โรคร้ายที่ตามมาจากการนอนน้อย
- โรคหัวใจ การนอนน้อยทำให้ความดันโลหิตสูงมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้นถึง 2 เท่า ทั้งยังอาจเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน แล้วพัฒนาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีกด้วย
-
โรคมะเร็งลำไส้ คนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ได้มากถึง 47%
- โรคเบาหวาน เมื่อเรานอนน้อย ร่างกายจะผลิตน้ำตาลและอินซูลินมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยดื้ออินซูลิน ซึ่งจะไม่มีอาการภายนอกแสดงให้สังเกตได้เลย กว่าจะรู้ตัวโรคก็ดำเนินไปมากแล้ว
- โรคอ้วน ยิ่งนอนน้อยจะยิ่งทำให้รู้สึกหิวง่าย อยากกินอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ระบบการเจริญเติบโตแปรปรวน ก็ยิ่งทำอ้วนได้ง่ายขึ้น
- โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ถึงจะสามารถหลับได้ หรืออาจจะมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ สะดุ้งตื่นกลางดึก แล้วไม่สามารถนอนหลับได้อีกเลย บางคนมีความสามารถในการเรียนรู้ลดลงเหนื่อยล้า สมาธิลดลง ภูมิคุ้มกันต่ำ
- โรคซึมเศร้า เมื่อเรานอนดึกจะส่งผลเสียต่ออารมณ์หลังตื่นนอน บางคนมีอาการหงุดหงิด แปรปรวนง่าย
ความจริงแล้ว เราควรนอนให้พอดีกับวัยของเรา และควรนอนให้ตรงเวลา เพื่อช่วยให้ร่างกายเรากระปรี้กระเปร่าหลังตื่นนอน พร้อมรับวันใหม่ แล้วเราก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เข้ากับสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร