เมื่ออายุล่วงเลยเข้าสู่เลขสี่ ปัญหาสุขภาพก็จะเข้ามาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจและมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะโรคยอดฮิตของวัยเก๋าอย่างปัญหาหัวใจ (โรคหัวใจ) ที่เลยวัยสี่สิบไปแล้วจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งโรคหัวใจนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก หากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต วันนี้เรามาเข้าใจหัวใจตัวเองให้มากขึ้นกันอีกสักหน่อย เพิ่มความปลอดภัย ห่างไกลโรค และเตรียมตัวรับมือได้ทัน
โรคหัวใจปัญหาหนักใจวัยเก๋า
โรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่คร่าชีวิตผู้คนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งอัตราการเสียชีวิตยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุของโรคหัวใจขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคหัวใจประเภทใด โรคหัวใจแต่ละชนิดก็จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับผู้สูงอายุนั้น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันจะพบได้บ่อย รวมถึงโรคลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และหัวใจพิการแต่กำเนิดก็พบบ่อยเช่นเดียวกัน
โรคหัวใจใครเสี่ยงบ้าง
โรคหัวใจนั้นมีปัจจัยเสี่ยงมากมายทั้งแบบที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ บางสาเหตุติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด บางครั้งโรคหัวใจก็มีสาเหตุมาจากโรคชนิดอื่น หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างก็ได้เช่นเดียวกัน โดยมีตัวอย่างปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ดังนี้
- พันธุกรรม โรคหัวใจสามารถส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมได้ หากเคยมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจก็จะมากขึ้นตามไปด้วย โดยผู้ชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไปและผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
- เพศ มีการศึกษาพบว่า เพศชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง - บุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและโรคร้ายแรงอีกหลายชนิด
- โรคเบาหวาน การที่ปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นเวลานานโดยไม่มีการควบคุม อาจทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง และอาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
- ความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดเกิดการหดเกร็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้
- ไขมันในเลือดสูง เพราะไขมันจะเข้าไปจับตัวที่ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าคนปกติหลายเท่า
สัญญาณเตือนโรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นโรคที่มีความร้ายแรงและอาจมีอาการขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว บางครั้งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจไม่ทันการณ์แล้วก็ได้ ดังนั้นต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือนของโรคให้ดี หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
- เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อาจป็นเฉพาะตอนออกกำลังกาย เป็นเฉพาะตอนกลางคืน หรือเป็นตลอดเวลาก็ได้
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจเจ็บมากจนลามไปถึงกราม ขากรรไกร คอ ไหล่ แขน หลัง ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกอาจยาวนานกว่า 20 นาที โดยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ใจสั่น ตัวเย็น เหงื่อออก เป็นต้น
- ปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากเขียวคล้ำ- เท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หน้ามืด เป็นลม
- เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
วิธีลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
การเลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อีกด้วย โดยเราควรรับประทานแต่พอดี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว อาหารที่มีน้ำตาลหรือโซเดียมสูง เน้นรับประทานธัญพืช ผัก และผลไม้
พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไม่ควรละเลย เราควรนอนหลับให้ได้วันละ 7 - 9 ชั่วโมงในตอนกลางคืน หากพักผ่อนไม่เพียงพอจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย ทั้งโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคที่กล่าวมาล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจทั้งสิ้น
ออกกำลังกายเป็นประจำ
คำพูดที่ว่ากีฬาเป็นยาวิเศษนั้นก็ดูจะไม่เกินจริงเท่าใดนัก เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดปริมาณคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้หัวใจแข็งแรงอีกด้วย
ควบคุมน้ำหนัก
อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือคนอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าปกติ เพราะว่าคนอ้วนนั้นจะมีปริมาณคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย
จัดการความเครียด
ความเครียดไม่เพียงทำให้อารมณ์เสียหรือปวดหัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งความดันโลหิตเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ อีกทั้งการเครียดมากเกินไปยังกระตุ้นให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือที่รู้จักกันดีว่าหัวใจวายได้อีกต่างหาก
หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และบุหรี่
แอลกอฮอล์และบุหรี่เป็นสองสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่นำมาซึ่งโรคร้ายมากมายอย่างเช่นโรคมะเร็งและโรคหัวใจ โดยทั้งแอลกอฮอล์และบุหรี่นั้นมีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
เบาหวานต้องควบคุม
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าคนปกติถึงสองเท่า เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะไปทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมหัวใจและหลอดเลือดเสียหาย
ความดันอย่ามองข้าม
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจ ดังนั้นควรหมั่นตรวจเช็คความดันโลหิตของตนเองเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง หากพบว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูง ควรหาทางรักษา เช่น หันมาออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เลิกสูบบุหรี่ หรือปรึกษาแพทย์ เป็นต้น
ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
สาเหตุที่ต้องใส่ใจสารสองตัวนี้ก็เพราะว่า หากมีปริมาณคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากเกินไปอาจไปอุดตันหลอดเลือดแดงซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและอาการหัวใจวายได้
ขอบคุณภาพจาก Freepik