นอนกรนเรื่องใหญ่ รีบรักษาอย่าละเลย

นอนกรนเรื่องใหญ่ รีบรักษาอย่าละเลย

การนอนกรน เป็นอาการที่น่าปวดหัวทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งนอกจากจะสร้างความรำคาญให้ผู้อื่นแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวผู้กรนเองได้อีกด้วย ซึ่งผู้ที่มีอาการกรนรุนแรง อาจมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงหลายชนิด อย่างโรคความดันโลหิตหรือโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ที่อาการนอนกรนแบบไม่หนักมาก สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง แต่กรณีที่มีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

 

รูปแบบของอาการนอนกรน 

อาการนอนกรนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท แตกต่างกันที่ระดับความรุนแรงของการกรนและผลกระทบต่อสุขภาพ

  1. อาการนอนกรนธรรมดา (ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้อื่น เช่น ทำให้ผู้อื่นรำคาญและนอนไม่หลับ หรืออาจถึงขั้นกระทบต่อความสัมพันธ์ เช่น ทำให้เกิดการหย่าร้างระหว่างคู่สามีภรรยา
  2. อาการนอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) การกรนประเภทนี้ส่งผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพ คือ ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงมากกว่าปกติในเวลากลางวัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือในโรงงานอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

 

ปรับพฤติกรรม แก้การนอนกรน

สำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนที่ไม่รุนแรงมาก สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น 

  1. ลดน้ำหนัก สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือคนอ้วน การลดน้ำหนักจะช่วยให้อาการนอนกรนและอาการหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น อาการกรนน้อยลงและนอนหลับได้ดีขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้การนอนหลับแย่ลง และยังกดการหายใจทำให้กรนมากขึ้น ส่งผลให้การนอนกรนหรือการหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นตามไปด้วย
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ เพราะยานอนหลับจะไปกดการหายใจ ทำให้กรนมากขึ้น และโรคนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับจะเป็นมากขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย
  4. เปลี่ยนท่านอน โดยเปลี่ยนท่านอนเป็นนอนตะแคงแทนการนอนหงาย เพราะการนอนตะแคงจะช่วยให้การนอนกรนน้อยลง

 

กรนหนักไม่ไหว ให้แพทย์รักษา

หากอาการนอนกรนอยู่ในขั้นรุนแรง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจไม่เพียงพอแล้ว ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยาและวิธีอื่น ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

  • แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกไปใช้วันละครั้งก่อนนอน โดยพ่นยาเข้าไปในโพรงจมูกข้างละ 2 ครั้ง (ตามคำแนะนำในการพ่นยาในจมูก) ตัวยาจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังช่วยหล่อลื่นลดการสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่ ทำให้เสียงกรนเบาลง ซึ่งยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะช่วยลดเสียงกรนและลดอาการผิดปกติต่าง ๆ จากการนอนกรนได้เต็มที่ โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์
  • หากพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกครบ 2 สัปดาห์แล้ว เสียงกรนไม่ลดลงหรือลดลงเพียงเล็กน้อย อาจทดลองใช้เครื่องเป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) โดยเครื่องมือนี้เป็นการนำหน้ากากครอบจมูก และ/หรือปากขณะนอนหลับ ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา ลมที่ขับออกมาขณะนอนหลับจะช่วยไม่ให้ทางเดินหายใจเกิดการอุดกั้นขณะหายใจเข้า 

โดยเลือกใช้เครื่อง CPAP ที่ปรับระดับความดันได้อัตโนมัติ (Auto CPAP) เป็นระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์ แล้วลองสังเกตเสียงกรนและอาการผิดปกติต่าง ๆ ว่าลดลงหรือไม่  

  1. หากอาการลดลง และคิดว่าจะใช้ได้ไปตลอดและจำเป็นต้องรักษาโดยเร่งด่วน ก่อนรับการตรวจการนอนหลับ อาจพิจารณาซื้อเครื่องมาใช้ก่อนก็ได้ และมาพบแพทย์เมื่อได้ผลการตรวจการนอนหลับแล้ว
  2. หากอาการลดลง แต่อยากจะรอจนกว่าได้ผลการตรวจการนอนหลับก่อนค่อยตัดสินใจ ก็ควรบอกแพทย์ถึงประสบการณ์การทดลองใช้เครื่อง CPAP ว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

หากพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูก 2 สัปดาห์ แล้วเสียงกรนไม่ลดลงหรือลดลงเพียงเล็กน้อย และไม่อยากทดลองใช้เครื่อง CPAP หรือทดลองใช้เครื่อง CPAP แล้วแต่ไม่อยากใช้ อาจลองไปปรึกษาทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาอาการนอนกรน โดยสอบถามขั้นตอนการรักษาก่อนเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: si.mahidol.ac.th / si.mahidol.ac.th/sidoctorucsfhealth.org

ภญ.เกวลิน ตั้งจิตบรรเจิด

ผู้เขียน

 

อ่านอะไรต่อดี

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แค่นอนกรนอาจถึงตาย

การนอนไม่หลับ ต้องใส่ใจ อันตราย กว่าที่คิด

รู้ไว้ปลอดภัยกว่า! ยานอนหลับ กับข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจ


หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง

 

บทความการดูแลสุขภาพ