
จากข่าวที่มีคนเสียชีวิตจากใช้มือที่มีบาดแผล สัมผัสเนื้อหมูดิบ จนเป็นไข้หูดับแล้วเสียชิวิตในเวลาสั้นๆ ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยถึงอันตรายของโรคนี้มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเคยได้ยินแต่ห้ามกินหมูดิบเท่านั้น แต่เรื่องแบคทีเรียเข้ากระแสเลือดในระหว่างทำอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ยินมากนัก มาทำความรู้จักโรคหูดับกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ จะได้ป้องกันตัวได้อย่างถูกวิธี
รู้จักกับโรคหูดับ
โรคหูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคที่เกิดในสุกร เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปกติจะมีอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว
เชื้อแบคทีเรีย ปกติฝังตัวอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคเว้นแต่เมื่อใดที่สุกรมีร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วยด้วยโรคที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน
กรณีหมูอ่อนแอ จะทำให้แบคทีเรียตัวชนิดนี้เพิ่มจำนวน ติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้หมูป่วยและตาย และมีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนได้ง่ายขึ้น
การติดเชื้อสู่คน
มี 2 ทางหลักๆ ที่เชื้อโรคจากหมูจะเข้าสู่คนได้
- บริโภคเนื้อสุกร เครื่องใน เลือดหมู ที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก เช่น ลาบ ลู่ หมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก
- ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตาจากการสัมผัสสุกรที่เป็นโรค กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวัง คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล
เนื้อหมูดิบ ที่สุกรไม่ได้ตายเพราะป่วย อาจไม่มีแบคทีเรียชนิดนี้ปนอยู่ แต่ไม่สามารถบอกได้จากสีเนื้อทั่วไป จึงควรระมัดระวังตัวเสมอ
อาการ
หลังรับเชื้อ ภายใน 3-14 วัน อาจมีไข้สูง ปวดเมื่อตามตัว ปวดบวมตามข้อ ปวดหัว มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง มีอาการซึม คอแข็ง ชัก
กรณีเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ไปสู่เยื่อหุ้มสมอง จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ มีผลทำให้หูตึง หูดับ เดินเซ ทรงตัวลำบาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ถึงรักษาได้ทันก่อนถึงชีวิต แต่มีผู้ป่วยหลายรายที่เสียการได้ยิน จึงถือเป็นโรคอันตรายที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
วิธีป้องกัน
- สำหรับคนทั่วไป เลี่ยงการทานเนื้อหมูปรุงไม่สุก ห้ามทำแบบดิบ ครึ่งสุกครึ่งดิบ ถ้าต้องกินแบบปิ้งย่างก็ต้องปรุงให้สุกก่อน, อย่าทานหมูที่อ่อนแอ เพราะอาจป่วยเป็นโรค แล้วหลังสัมผัสเนื้อหมูดิบ ต้องล้างมือทำความสะอาดทุกครั้ง
- เวลาทานหมูกะทะ ควรแบ่งระหว่าง ที่คีบเนื้อดิบ กับ ตะเกียบสำหรับทาน ไม่ควรเอาตะเกียบไปสัมผัสเนื้อหมูดิบโดยตรง ซึ่งมีโอกาสที่แบคทีเรียจะเกาะตะเกียบได้
- ระวังเลือดหมูด้วย ซึ่งบางเคสทานลาบหมูปรุงสุก แต่ราดโลหิตหมูดิบ ซึ่งทำให้เกิดการติดแบคทีเรียได้เช่นกัน
- สำหรับคนที่ทำฟาร์มเลี้ยงสุกร ควรใส่เสื้อผ้าให้รัดกุม รองเท้าบู๊ต ถุงมือ เลี่ยงการสัมผัสสุกรที่อาจโดยตรง
- กรณีมีแผล แล้วสัมผัสโดนเนื้อสุกรที่อาจป่วยโดยตรง ให้รีบติดต่อโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง
โรคไข้หูดับ โรคอันตรายถึงชีวิตจากเนื้อหมู ติดเชื้อผ่านแผลก็ตายได้
ขอบคุณข้อมูลจาก: ppho.go.th